สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่ม neonicotinoids มีอันตรายต่อผึ้ง

ด้วยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ขอรายงานการศึกษาวิจัย สารกำจัดศัตรูพืช neonicotinoids ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณที่ลดลงของผึ้งในหลายประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

  1. พืช ผลทางการเกษตรหลายชนิดต้องอาศัยแมลงเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรเพื่อให้ได้ผล ผลิตที่สูงขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2549 ประชากรผึ้งในสหรัฐเริ่มลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเกษตร คิดเป็นมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในสหรัฐเท่านั้นยัง ลุกลามไปยังทวีปยุโรปด้วย เนื่องจาก 80% ของพืชที่เพาะปลูกทั้งหมดในสหภาพยุโรปต้องอาศัยกระบวนการผสมเกสร (pollination)  นักวิจัยสันนิษฐานว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากการการใช้ยาปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้น
  2. หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหาร ประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ได้ศึกษาวิจัยสารกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีส่วนประกอบของนิโคตินที่เรียกว่า neonicotinoids ได้แก่ สาร imidaclprid และ clothianidin และพบว่าสารเคมีในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoid) เป็นสาเหตุหลักทำให้ผึ้งจำนวนมากตายและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อ ปริมาณผลผลิตและการขยายพันธุ์ ทำให้เกิดสารตกค้างในเกสรจากดอกไม้ (Pollen) น้ำหวานจากดอกไม้ (Nectar) ละอองเกสร และสารตกค้างจากการคายน้ำของพืช (guttation) นอกจากนี้ Australia’s Environment Agency (EAA) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการตรวจสอบข้อมูลต่างๆและการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า สารดังกล่าวก่อให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันกับผึ้งและมีผลต่อน้ำผึ้งที่ผลิตออกมา ด้วย ซึ่งขณะนี้ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีได้มีการห้ามใช้สารฆ่าแมลงบางชนิดในกลุ่มของ neonicotinoid แล้ว ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีมาตรการการป้องกันล่วงหน้า (Precautionary Principle) ตามกฎระเบียบ Regulation 1107/2009 ของสหภาพยุโรป

ในการนี้ สำนักงานฯ ขอเรียนข้อเสนอแนะ ดังนี้

พิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมาก นอกจากจะทำลายพืชคลุมดินบางชนิด และเกิดสารตกค้างในดินและน้ำแล้วยังเป็นพิษต่อสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่น ผึ้ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผสมเรณูเกสรดอกไม้อันเป็นกุญแจสำคัญของระบบนิเวศด้วย ผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อผึ้งทำให้จำนวนประชากรผึ้งลดลงอย่างรวด เร็ว ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสิ่งแวดล้อม การเพาะปลูก ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงควรมีการประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการไม่เลือกใช้สารเคมีในกลุ่มดังกล่าวและมีวิธีปฏิบัติในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องไม่ให้เกิด อันตรายทั้งต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และระบบนิเวศ