แนวทางการจัดเก็บภาษีเฉพาะเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

การเก็บภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวทางดังกล่าวมาใช้อย่างกว้างขวาง จากการศึกษาของ OECD เรื่อง The Political Economy of Environmentally Related Taxes เมื่อปี 2007 พบว่ามีมาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อม(Eco-tax)ที่ใช้ในกลุ่มประเทศเหล่านี้มากถึง 375 รายการ เช่น การเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ ขยะและของเสีย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ โดยในจำนวนภาษีที่เก็บนี้เป็นประเภทภาษีที่ใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์เฉพาะ มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 และการเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

กลุ่มประเทศที่ใช้มาตรการทางภาษีดังกล่าวและทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูปในการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน เช่น เฉพาะเดนมาร์กมีภาษีด้านสิ่งแวดล้อม 16 รายการ เบลเยี่ยม 8 รายการ ฮังการี 8 รายการ นอรเวย์ 6 รายการ และเนเธอร์แลนด์ 5 รายการ

 

1. การเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในต่างประเทศ

จากการประมวลจากงานศึกษา(T. Skevas และคณะ 2013, Withana และคณะ 2014 , ECOTEC 2001, PAN-Euope 2014) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบว่า ในทวีปอเมริกาเหนือ มีสหรัฐ และแคนาดา (รัฐบริทิชโคลัมเบีย) (OECD.2010)ที่มีการเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนในยุโรปพบว่ามีหลายประเทศ ได้แก่ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส นอรเวย์ อิตาลี และสวีเดน ที่มีการเก็บภาษีในลักษณะเดียวกัน โดยในจำนวนนี้มี 5 ประเทศคือ สหรัฐ แคนาดา นอรเวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ที่นำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax)

ตัวอย่างเกี่ยวกับภาษีเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการเกษตรในยุโรป

Belgium Pesticides tax
Denmark Pesticide tax
Tax on nitrogen
Tax on phosphorus in animal food
France Pesticide tax
Greece Charge to acquire grazing rights on public lands
Italy Phytosanitary products tax
Norway Pesticide tax
Sweden Tax on pesticides
Tax on commercial fertilisers abolished in December 2010

Withana, S., ten Brink, P., Illes, A., Nanni, S., Watkins, E., Lopez, A., van Dijl, E., Kretschmer, B., Mazza, L., Newman, S., Russi, D., (2014)

 

1.1 ประเทศนอรเวย์

นอรเวย์เริ่มเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาตั้งแต่ปี 1988 โดยในระยะแรกเก็บในอัตรา 2% ของราคาขายปลีก (ไม่รวมการจัดเก็บในรูปค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน ค่าใช้จ่ายเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและการตกค้าง รวมถึงการตรวจรับรองและกระบวนการขึ้นทะเบียน)

ในปี 1998 ได้เพิ่มอัตราภาษีสารเคมีเพิ่มขึ้นเป็น 15.5% ของราคาขายปลีก

ต่อมาในปี 1999 ใช้ระบบภาษีซึ่งกำหนดระดับภาษีตามผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้ามาแทนระบบภาษีแบบเดิม โดยแบ่งระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกเป็นระดับอันตรายร้ายแรงต่างๆ โดยจะจัดเก็บภาษีในระดับสูงถ้ามีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรงมาก นวัตกรรมนี้ใช้ควบคู่กับการดำเนินการในระดับพื้นที่ (area-based approach) โดยหากมีการใช้สารเคมีในปริมาณมากต่อพื้นที่ก็จะเพิ่มอัตราภาษีไปพร้อมๆกัน

อัตราการเก็บภาษีพื้นฐาน(เมื่อปี 2004) อยู่ที่ระดับ 16 NOK (ประมาณ 2.4 EUR) สำหรับทุกผลิตภัณฑ์ ต่อมาได้เพิ่มเป็น 20 NOK (ประมาณ 2.4 EUR) ในปี 2005 โดยมีหลักสูตรการคำนวณภาษีดังต่อไปนี้

 

ภาษีต่อกิโลกรัม = ภาษีพื้นฐาน (20 NOK) X ค่าแฟกเตอร์ความเป็นอันตราย X 1,000/ค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับการใช้ต่อหน่วยพื้นที่

ทั้งนี้โดยค่าแฟกเตอร์ความเป็นอันตรายอยู่ที่ระดับ 0.5-150 (ยิ่งค่าแฟกเตอร์มาก ภาษีสารเคมีจะยิ่งสูงขึ้น) ทั้งนี้โดยแบ่งประเภทออกเป็นระดับต่างๆ 7 ระดับ ดังนี้

 

รายได้จากการจัดเก็บภาษีของนอรเวย์อยู่ที่ประมาณ 60 ล้าน NOK (หรือประมาณ 7.2 ล้าน EUR) โดย 1 ใน 3 ถูกนำไปใช้สำหรับโครงการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (PAN Europe 2005)

 

1.2 ประเทศเดนมาร์ค

เริ่มเก็บภาษีสารเคมีครั้งแรกในปี 1986 โดยเก็บภาษีในอัตราเพียง 3% ของราคาขายปลีก ต่อมาเพิ่มเป็นเฉลี่ย 15% ในปี 1996 และเพิ่มเป็นเฉลี่ย 37% ในปี 1997

 

ในช่วงเวลาดังกล่าวเดนมาร์กแบ่งประเภทการเก็บภาษีสารเคมีออกเป็น 3 ระดับภาษี ตามตาราง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2013 ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ (Act. No. 594 of June 18, 2012) เดนมาร์กได้เปลี่ยนการจัดเก็บภาษีตามผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Environment and health load) คล้ายคลึงกับประเทศนอรเวย์ แต่ซับซ้อนกว่า โดยกำหนดค่าแฟกเตอร์ ดังนี้

1) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น นก ปลา ไส้เดือน สาหร่าย

2) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การย่อยสลายในสิ่งแวดล้อม การสะสมทางชีวภาพ(bioaccumulation) การชะล้างสะสมในน้ำใต้ดิน

3) ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในแบบเฉียบพลัน เช่น ผลกระทบต่อสายตาและการมองเห็น ไปจนถึงผลกระทบระยะยาวเช่น ต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์มารดา เป็นต้น

ทั้งนี้โดยกำหนดแฟกเตอร์ย่อยภายใต้ 3 แฟกเตอร์ใหญ่ออกเป็น 16 แฟกเตอร์ จากนั้นจึงมีการนำแฟกเตอร์ของสารเคมีแต่ละชนิดไปรวมคำนวณคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่าย โดยรวมทำให้ระดับการเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้น และสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดสำหรับสารที่มีพิษภัยร้ายแรง ตัวอย่างเช่น ภาษีของไซเปอร์เมทรินเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าภายใต้กฎหมายใหม่ ดังตาราง

สำหรับรายได้จากภาษีระบบภาษีเดิมนั้นมีการเก็บเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น สามารถเก็บภาษีได้ 44 ล้าน DKK ในปี 1994 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 375 ล้าน DKK ในปี 2000

ภาษีจากการจัดเก็บได้เพิ่มสูงขึ้นมากในระหว่างปี 2007-2010 โดยอยู่ที่ระหว่าง 450-500 ล้าน DKK ต่อปี (Danish Environmental Protection Agency, Ministry of the Environment 2013)

ภาษีที่ได้รับจากสารเคมีจะถูกนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked) โดย แบ่งออกเป็น3 ประเภท คือ

– 55% ใช้สำหรับลดภาษีที่ดินในท้องถิ่น (reduce county land tax)

– 10% สำหรับสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์

– 35% ใช้สำหรับงานวิจัยและการติดตามผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

– ส่วนที่เหลือซึ่งน้อยมาก (0.001%) ใช้สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียน (OECD 1999 April)

การที่ภาษีส่วนใหญ่ถูกส่งกลับมายังเกษตรกร ทำให้เกษตรแม้จะไม่ชอบมาตรการภาษีแต่ก็ยอมรับ

มันได้ง่ายขึ้น (PAN Europe 2005)

 

1.3 ประเทศสวีเดน

สวีเดนเป็นประเทศแรกในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีการจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยการเก็บภาษีเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการลดการใช้สารเคมีให้ได้ 50% ภายในปี 1996 โดยเป็นระบบการจัดเก็บภาษีง่ายๆไม่ซับซ้อน

การเก็บภาษีเริ่มต้นในปี 1984 โดยในระยะแรกเก็บภาษีเพียง 4 SEK ต่อสารออกฤทธิ์ 1 กิโลกรัมก่อน แล้วเพิ่มเป็น 8 SEK ในปี 1988 และเพิ่มเป็น 20 SEK ในปี 1994 และจัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 30 SEK (3.25 EUR) สำหรับ 1 กิโลกรัมสารออกฤทธิ์ ตั้งแต่ปี 2004

 

รายได้จากการเก็บภาษีมีมูลค่า 38 ล้าน SEK ในปี 1998 โดยเก็บจากผู้ประกอบการจำนวน 44 ราย โดยรายได้ดังกล่าวประมาณ 4,000 SEK หรือประมาณ 0.01% ถูกใช้สำหรับการดำเนินงานของ National Tax Board ส่วนที่เหลือใช้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับโปรแกรมปฏิบัติการด้านสารเคมี

( The Pesticide Action Programme)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา รายได้จากการจัดเก็บภาษีสารเคมีได้ถูกจัดส่งเข้างบประมาณกลางของรัฐ แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับโปรแกรมปฏิบัติการสารเคมีในระดับเดียวกับที่เคยได้รับจาก earmarked tax หนึ่งในเหตุผลที่อธิบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือกลัวว่าสวีเดนจะมีอำนาจการต่อรองน้อยลงในการใช้ประโยชน์จากภาษีเมื่อสวีเดนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสหภาพยุโรป

1.4 ประเทศฝรั่งเศส

แบ่งประเภทการเก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกเป็น 7 ระดับความเป็นอันตราย โดยมีอัตราภาษีอยู่ระหว่าง 0.38-1.68 EURต่อกิโลกรัมสารออกฤทธิ์

1.5 ประเทศเบลเยี่ยม

เก็บภาษีในอัตรา 0.395 EUR ต่อกิโลกรัม

1.6 ประเทศอิตาลี

เก็บภาษี 0.5% สำหรับผลิตภัณฑ์สารเคมีที่ผลิตในประเทศ และ 1% สำหรับสารเคมีที่นำเข้า

1.7 ประเทศแคนาดา

เก็บภาษีสารเคมีในอัตรา 0.7568 ต่อลิตร

1.8 ประเทศสหรัฐอเมริกา

เก็บภาษีสารเคมีในอัตรา 0.001-0.004 EUR ต่อกิโลกรัม

 

2. ความสำเร็จของมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆในการการจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความปลอดภัยทางอาหาร

มาตรการทางภาษี และเสริมด้วยมาตรการอื่นๆในการควบคุมการใช้สารเคมี ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนอรเวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ดังกราฟ

 

 

จากการสำรวจเกษตรกรในนอรเวย์ 70% ตอบว่ามาตรการทางภาษีทำให้สารเคมีมีราคาแพงขึ้น และ 40% ตอบว่าจะเปลี่ยนไปใช้สารเคมีที่อันตรายน้อยลงเพราะราคาต่ำกว่าเนื่องจากเสียภาษีต่ำกว่า(PAN Europe 2005)

ปริมาณการใช้สารเคมีในสามประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่มีการจัดเก็บภาษีในระดับสูง เช่นในปลายทศวรรษ 1990 ปริมาณสารออกฤทธิ์ลดลง 47% ในเดนมาร์ก 54% ในนอรเวย์ และ 67% ในสวีเดน

มาตรการทางภาษีที่ใช้ร่วมกันมาตรการอื่นๆทำให้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลสวีเดนประเมินว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ลดลง 77 %ระหว่างปี 1997-2001 ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมลดลง 63% ในขณะที่ในนอรเวย์ การประเมินระหว่างปี 1998-2002 พบว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ 33% และลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมได้ 37% แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กเช่นเดียวกัน โดยในระหว่างปี 200-2002 สามารถลดดัชนี Pesticide Treatment Intensity จากระดับที่ 2.45 เหลือเพียง 2.04 ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ (PAN Europe 2005)

รัฐบาลเดนมาร์กและเอ็นจีโอประเมินว่าระบบภาษีแทบไม่ได้ส่งผลกระทบในทางลบใดๆต่อเศรษฐกิจของเกษตรกร ในทางกลับกันจากการวิจัยระหว่างปี 1999-2003 พบว่าเกษตรกรกลับได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการลดการฉีดพ่นจาก ทำให้ลดค่าใช้จ่ายสารเคมีลงได้ถึง 15% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกัน 30 ล้าน EUR (PAN Europe 2005)

ระดับความปลอดภัยของอาหาร โดยวัดจากสถิติการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับที่เกินมาตรฐานลดลงเหลือระดับเพียง 3-4% ของจำนวนการสุ่มตรวจเท่านั้น (Economic Instrument in Chemical Policy, 2009) ในขณะที่ในประเทศไทยจากการสุ่มตรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นมีระดับการตกค้างสูงกว่าค่ามาตรฐานโดยเฉลี่ยถึง 25-35% (ค่า MRL ของประเทศไทยกำกำหนดมาตรฐานไว้ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรป และมีสารเคมีหลายชนิดที่มิได้กำหนดค่า MRLไว้เลย)

 

 

จากการวิเคราะห์ (Reducing pesticide use across the EU : PAN-Europe 2014) ความสำเร็จในการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มประเทศนอร์ดิค เช่น เดนมาร์ค นอรเวย์ และสวีเดน เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ

  1. การใช้ Precaution Principle และ cut off criteria ในการแบนสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยในประเทศเดนมาร์กมีสารเคมีเพียง 80 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้ในการเกษตร ในขณะที่ประเทศอื่นๆมีสารเคมีที่ได้รับอนุญาตมากถึง 300-400 ชนิดสาร
  2. การประกาศแผนการลดพื้นที่การใช้สารเคมี โดยมาตรการ 3 ประการคือ หนึ่ง ประกาศพื้นที่ห้ามฉีดพ่นสารเคมี สอง ส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์ และ สามการพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกและวิธีการทำฟาร์มที่ดี
  3. การใช้มาตรการทางภาษีที่เข้มงวด

จากการศึกษาพบว่า การจัดเก็บภาษีโดยกำหนดภาษีตามระดับความเป็นอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการควบคุมและลดการใช้สารเคมี ( J.M. Lescot และคณะ 2014)การประเมินในประเทศสวีเดน (SEPA 1997a) พบว่า ระดับภาษีที่ 5-8% นั้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในการลดการใช้สารเคมีค่อนข้างช้า โดยระดับภาษีที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้คือระดับภาษีที่ 25% ซึ่งจะทำให้มีการลดปริมาณการใช้สารเคมีได้ระหว่าง 4-10% ดังนั้นการใช้มาตรการทางภาษีจึงควรดำเนินไปพร้อมๆกับมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาทางเลือกอื่นในการควบคุมกำจัดศัตรูพืช

ในกรณีประเทศสวีเดนนั้น ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยเพียง 0.5 กิโลกรัมต่อแฮกตาร์ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ 2.2 กิโลกรัมต่อแฮกตาร์

รัฐบาลสวีเดนถือว่าแม้ระดับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายสารเคมียังไม่ถึงระดับที่น่าพอใจ แต่การเก็บภาษีเป็นการส่งสัญญาณของจุดยืนของประเทศในการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Swedish National Reporting to the UN Commission on Sustainable Development CSD18‐19) ในขณะที่ Swedish Farmers Federation ประเมินว่าการจัดเก็บภาษีได้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมจากการประเมินการตกค้างของสารเคมีตกค้างในแม้น้ำ (Jan Eksvärd, 2003)

 

3. ปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย

ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยอยู่ในระดับวิกฤต โดยสะท้อนจากปริมาณการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตกลับไม่เพิ่มขึ้น ปัญหาความไม่ปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคจากการใช้สารเคมี และสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ในระดับที่สูงมาก

 

 

ปัญหาเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การนำเข้าสารเคมีไปจนถึงผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ ทั้งนี้จากการประมวลโดยผู้เขียนซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และติดตามปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าลำดับของสาเหตุของปัญหาในการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย มีดังนี้

  1. ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มผลประโยชน์จากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมทั้งการให้ความสำคัญน้อยต่อหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในคณะกรรมการระดับต่างๆ
  2. การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและกระบวนการพิจารณาการจัดประเภทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ได้ดำเนินการจัดการปัญหาสารเคมีที่ต้นตออย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศยกเลิกการใช้ รวมไปถึงการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด/การประกาศชนิดของสารเฝ้าระวัง
  3. การขาดมาตรการทางภาษีเพื่อมาใช้ในการจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยนำมาภาษีดังกล่าวมาใช้เพื่อจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  4. ประชาชนขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของปัญหาสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ทำให้ไม่ตระหนักและไม่ตื่นรู้เพื่อเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาสารเคมี
  5. ขาดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ของการจัดการสารเคมี
  7. ความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผักและผลไม้ รวมไปถึงเกษตรกรและผู้ทำการผลิตทางการเกษตร
  8. การขาดการจัดการและพัฒนาข้อมูลที่เกี่ยวกับการสารเคมีตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

 

การจัดการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงต้องดำเนินการตลอดห่วงโซ่ โดยต้องปรับบทบาทและเพิ่มเติมกิจกรรมที่สำคัญหลายประการ ทั้งนี้รวมถึงการจัดเก็บภาษีสารเคมี ดังสรุปในแผนภาพ

 

 

4. ข้อเสนอแนะแนวทางในการจัดเก็บภาษีเฉพาะเพื่อจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย

1) จัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับตั้งแต่ 12.5-50% ของมูลค่าการขายปลีกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้โดยจัดเก็บภาษีตามระดับของความอันตรายร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้สารเคมีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้ หรือหลายประเทศได้ประกาศยกเลิกการใช้แล้ว และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารที่ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีการจัดเก็บภาษีในระดับสูง

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีอาจดำเนินการเป็นขั้นบันได โดยในช่วง 5 ปีแรก อาจจัดเก็บในระดับ 1/3 ของอัตราภาษีที่เสนอขั้นต้นก่อน แล้วเพิ่มเป็นอัตราภาษีเต็มจำนวนในปีที่ 10 เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ และเกษตรกร สามารถปรับตัว ปรับพฤติกรรม เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

การกำหนดภาษีที่ระดับเริ่มต้น 12.5% ถือว่าเป็นการกำหนดภาษีในระดับต่ำเพียงครึ่งหนึ่งของระดับการเก็บที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากผลการศึกษาในหลายประเทศที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ประสงค์จะใช้มาตรการภาษีควบคู่ไปกับมาตรการอื่นด้วย โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการนำเงินภาษีจากการจัดเก็บภาษีไปใช้ในโครงการลดการใช้สารเคมีไปพร้อมๆกัน

2) กำหนดให้มีการนำภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อนำมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และจัดการปัญหาสารเคมี โดยเสนอให้มีการใช้ภาษีดังกล่าวไปใช้กับวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้

– 40% ของรายได้จากภาษี นำไปใช้เพื่อเยียวยาปัญหาเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี

– 40% ใช้สำหรับการสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อหาทางเลือกในการไม่ใช้สารเคมี

– 20% สำหรับการตรวจสอบเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการสนับสนุนการวิจัยทางนโยบายเพื่อลดการใช้สารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร

3) การดำเนินการในข้อ 2 ควรดำเนินการภายใต้การกำกับของคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือดำเนินการจัดตั้งองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐเพื่อดำเนินการ เช่น ข้อเสนอในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและอาหารที่ปลอดภัยของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นต้น

 

ข้อเสนอนี้เป็นการนำเสนอเบื้องต้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานต่างๆนำไปพิจารณาหรือศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้นำมาตรการภาษีเฉพาะ(Earmarked Tax)มาใช้กับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

1.An Evaluation of the Impact of Green Taxes in the Nordic countriess (TemaNord 2001:566).http://www.norden.org/pub/miljo/ekonomi/sk/2001-566.pdf

2. Can taxes and targeted subsidies be efective in limiting the use of pesticides in viticulture?. J.M. Lescot, M. Rouire, M. Raynal, S. Rousset.14th Congress of European Ljubljana, Slovenia. 6 p.

3. Agricultural Economists “Agri-Food and Rural Innovations for Healthier Societies”, Aug 2014

4.Danish Pesticide Use Reduction Programme- to Benefit the Environment and the Health,

PAN-Europe June 2005

5.Denmark Pesticide Act. No. 594 of June 18, 2012

6.Designing the emerging EU pesticide policy: A literature review ,T. Skevas, A.G.J.M. Oude Lansink, S.E. Stefanou Wageningen University,The Netherlands NJAS – Wageningen. Journal of Life Sciences 64– 65 (2013) 95– 103

7.Environmental tax reform in europe: opportunities for the future Annexes to

Final Report Prepared by: Institute for European Environmental Policy 30 May 2014(IEEP) 30 May 2014

8.How to involve farmers in pesticide use reduction.Jan Eksvärd, Federation of Swedish Farmers.

InReducing Pesticide Dependency in Europe to protectHealth,

9.Pesticide Taxes in Scandinavia, Jesper S. Schou of the Danish Institute of Agricultural and Fisheries,

and Jens C. Streibig of the Royal Veterinary and Agricultural University at Frederiksberg, Artikel i Pesticide Outlook

10.Pesticide taxes- national examples and key ingredients Pesticides Action Network Europe December 2005

11.Pesticide taxes- national examples and key ingredients, Pesticides Action Network Europe

Briefing no. 6 December 2005

12.Pesticide Use Reduction Strategies in Europe-Six case studies, Pesticide Action Network Europe, September 2007

13. Study on Environmental Taxes and Charges in the EU ECOTEC in association with CESAM, CLM, University of Gothenburg, UCD and IEEP (CR) April 2001

14.Swedish National Reporting to the UN Commission on Sustainable Development CSD18‐19 Chemicals, Waste management, Sustainable consumption and production, Transport and Mining

15.Taxation of Pesticides and Fertilizer, Peter Sjoberg, Department of Bussiness Administration

and Social Science, Lulea University of Technology 2005