การจำกัดการใช้ เป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ค้าสารพิษ

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ รับลูกจากนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯแถลงมาตรการจำกัดการใช้พาราควอต ซึ่งในที่สุดแล้วมันจะเป็นเพียงข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมในการอนุญาตให้พ่อค้าสารพิษค้าขายสารพิษร้ายแรงต่อไปได้นั่นเอง ดังนี้

1) การจำกัดการใช้ที่ได้ผลที่สุด คือการกำหนดปริมาณการนำเข้าสารพิษร้ายแรง แต่ไม่มีประโยคใดๆหลุดออกมาจากกระทรวงเกษตร การนำเข้าสารพิษพาราควอตในที่สุดแล้วก็ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของไปโดยปราศจากการควบคุมใดๆนั้นเอง

2) การจำกัดการใช้พาราควอตที่มีประสิทธิภาพปกป้องชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภคได้จริงๆนั้นต้องทำแบบบราซิลที่ป้องกันมนุษย์เป็นผู้ฉีดพ่น (ซึ่งขณะนี้ ANVISA ก็เห็นว่าไม่ปลอดภัยพอ และกำลังเสนอให้แบน) การดำเนินการแบบนี้ นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมเห็นว่าต้นทุนสูงมาก สู้แบนพาราควอตไปเลยดีกว่า และเขาสนับสนุนให้มีการแบน

3) มาตรการที่บอกว่าจะควบคุมการใช้ในพื้นที่ต้นน้ำนั้น ไม่มีส่วนใดที่ดำเนินการกับกลุ่มธุรกิจการเกษตรเลย เช่น มาตรการที่ห้ามมิให้มีการซื้อผลผลิตที่ใช้พาราควอตจากพื้นที่ต้นน้ำเป็นต้น

3) ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการควบคุมและจำกัดการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช เพราะแม้แต่สารพิษที่ผิดกฎหมายก็ปล่อยให้มีการขายกันอย่างโจ๋งครึ๋ม จากฐานข้อมูลของไทยแพนที่ตรวจสอบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายตกค้างอยู่ในผลผลิตปลายทางมีสัดส่วนมากถึง 17% ของสารพิษตกค้างทั้งหมด ( 50 ตัวอย่างจาก 296 ตัวอย่าง)

ขนาดสารที่ผิดกฎหมายยังปล่อยให้ใช้ แล้วสารที่ยังอนุญาตให้ใช้ต่อ กระทรวงเกษตรฯจะทำได้หรือ

โดยสรุป มาตรการที่ว่ายังเบาบาง มิได้มีมาตรการพิเศษใดๆที่เพียงพอสำหร้บผู้ค้าสารพิษเลย และจะไม่มีทางปกป้องสุขภาพของเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และการตกค้างที่มีผลต่อเนื่องมายังผู้บริโภคได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้ออ้างเอื้อประโยชน์ต่อพ่อค้าสารพิษ มากกว่าจะปกป้องประชาชน