ด่วน ! นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รับข้อเสนอของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร แล้ว โดยได้ยุติการนำเข้าสารพิษความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดแล้ว

ไม่มีการขึ้นทะเบียนใหม่นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา และขณะนี้กำลังเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด ตอนนี้การแบนสารพิษจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับพลังของประชาชนที่จะสนับสนุน ยอมรับมีแรงกดดันมาจากหลายฝ่าย
วันนี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เครือข่ายวิชาการ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ นายสันติชัย ชายเกตุ นายสามารถ สะกะวี และนายสุนทร ร้กษ์รงค์ เป็นต้น ได้ยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ต่อนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อคือ
1. สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยกเลิกการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลทันทีเนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมฯ
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด โดยยกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นปี 2562 ตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 และกำหนดกรอบเวลาการแบนไกลโฟเซตให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและหาวิธีการทดแทนได้ล่วงหน้า
3. เครือข่ายฯสนับสนุนการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอีก เนื่องจากได้มีการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบแล้ว โดย มีบทบาท 2 ประการคือ หนึ่ง หามาตรการทางเลือกในการควบคุมศัตรูพืช เช่น การใช้เครื่องมือกล เครื่องจักรกลการเกษตรการจัดการระบบการปลูกพืช การปลูกพืชคลุมดิน หรือวิธีการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีความ เสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว และสองหาแนวทางหรือมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรเฉพาะกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยอาจพิจารณาการเก็บภาษีจากผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อนำมาใช้ดำเนินการ หรือมาตรการอื่นๆที่มีความเหมาะสม
นางมนัญญา ยังได้เล่าถึงสาเหตุที่ตัวเองมาลุยงานเรื่องการแบนสารเคมี โดยเล่าว่าสมัยที่เป็นนายกเทศมนตรีที่อุทัยธานี ได้ถูกเชิญไปงานศพเสมอๆ เมื่อสอบถามถึงสาเหตุว่าเป็นอะไรถึงเสียชีวิต มักได้ยินคำตอบว่า สาเหตุการตายมาจากการใช้สารเคมี ซึ่งคำตอบนั้นทำให้เกิดคำถามในใจเสมอว่า สารอันตรายพวกนี้ทำไมถึงไม่แบน จนวันนี้ตัวเองได้มานั่งเก้าอี้ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอยากสานต่อความคิดของตัวเองเรื่องการแบนสาร อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากท่านอนุทินก็ลงมาลุยเอง ทำให้ท่านกล้าลุกขึ้นมาดำเนินงานเรื่องนี้
ยอมรับว่าได้รับแรงกดดันพอสมควร มีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่หลายคน ที่เตือนว่าไม่อยากอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือถึงได้ทำเรื่องนี้ แต่ตนเองคิดว่าในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะอยู่ที่พลังประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าตนจะทำสำเร็จได้หรือไม่
รัฐมนตรีช่วยว่าการได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรณีทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หมดอายุนั้น ขณะนี้ไม่มีการต่อทะเบียนให้เลยตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตนยังได้สั่งการให้ยุติการนำเข้าสารที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดแล้ว ตอนนี้มีข้อมูลสต๊อกสารเคมีในมือแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนเรื่องการแบนสารก็ดำเนินงานมา 50% และมั่นใจว่าปี 62 นี้ ยกเลิกได้แน่ โดยในวันนี้ (10/9/2562) ตอน 16.00 น. จะมีการประชุมนำเสนอเรื่องสารทดแทนและวิธีการทดแทนต่างๆในการผลิต ส่วนความคืบหน้าในการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดนั้นตอนนี้ได้ส่งหนังสือจากกระทรวงเกษตรไปถึงกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวแล้ว ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรฯไม่สามารถไปเร่งรัดได้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงระยะเวลาในการแบนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด นางมนัญญาตอบว่าจะทำให้เร็วและรอบคอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อนึ่งในระหว่างการเข้าพบของเครือข่ายฯ มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายอรรถวิชช์ สุรรณภักดี นายวัชระ เพชรทอง และนายสามารถ มะลูลีม ได้เดินทางเข้ามาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของนางมนัญญาด้วย