ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า

ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 57.7% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง

โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 40 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด

ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป

 

ผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ ตอกย้ำผลการตรวจวิเคราะห์เมื่อก่อนหน้านี้ของไทยแพน ( ผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ พ.ศ. 2561 ของไทยแพน พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 19 ตัวอย่างจาก 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด)

การนำเสนอข้อมูลนี้ มีเจตนานำเสนอข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามความเป็นจริง เนื่องจากความเข้าใจของคนเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าผักในระบบปลูกเช่นนี้ปลอดภัยกว่า หรือไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งขณะนี้ไม่เป็นความจริงตามผลการวิเคราะห์ข้างต้น โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283

ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน

ไทยแพนดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส โดยปราศจากอคติใดๆต่ออุตสาหกรรมไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้ห้องปฎิบัติการในประเทศสหราชอณาจักร ซึ่งมีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์สารพิษกว่า 500 ชนิด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 แปรผลโดยยึด พ.ร.บ. อาหารและมาตรฐานสารตกค้างของกระทรวงสาธารณสุข โดยรายละเอียดผลการตรวจ ซึ่งรวมทั้งภาพถ่าย แบรนด์ ตรามาตรฐาน ปริมาณการตกค้างทั้งหมด ได้เปิดเผยต่อหน่วยงานราชการและห้างซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายแล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นที่จะแสดงความรับผิดชอบของตน

เราเชื่อว่า การยอมรับปัญหาตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ปัญหาได้ในที่สุด และพลังของประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้