เครือข่ายเกษตรทางเลือก และกลุ่มผู้บริโภค จี้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกการใช้สารพิษ 4 ตัว ยันหากยังเห็นผลกำไรบริษัทอยู่เหนือสุขภาพและชีวิตของคนไทยจะฟ้องปปช.ตรวจสอบคอรัปชั่น

ในวันนี้ (9 สค.2555) กรมวิชาการเกษตรได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้ เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร  ซึ่งได้มีการเชิญตัวแทนจากหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนบริษัทค้าเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิเช่น FMC ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ฟูราดาน” (คาร์โบฟูราน)  ดูปองท์ เจ้าของ “แลนเนต” (เมโธมิล)  ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อระดมความเห็นจัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อห้ามหรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร

ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย และกลุ่มผู้บริโภค จำนวนกว่า 50 คนมารวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารจัดประชุม  มีการจัดกิจกรรมการแสดงล้อเลียนการแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทเคมีการเกษตร และการหว่านผักปนเปื้อนสารเคมีไปทั่วประเทศไทยที่ใช้ขวดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจัดเรียงเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในกระบวนการขึ้นทะเบียน ดำเนินการเพื่อมิให้มี การผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นโดยทันที เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว

ในที่ประชุมตัวแทนกรมการข้าวยังอภิปรายสนับสนุนเครือข่ายเกษตรทางเลือกและกลุ่มผู้บริโภคที่เสนอให้กรมวิชาการเกษตรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และพิจารณาการขึ้นทะเบียน และการยกเลิกสารเคมีอันตรายทางการเกษตร ที่ผ่านมากรมการข้าวไม่ได้ถูกเชิญให้มาร่วมในกระบวนการดังกล่าวเลย ทั้งที่กรมการข้าวได้มีการศึกษาผลกระทบของคาร์โบฟูราน และสารเคมีตัวอื่น ๆ ต่อนาข้าว เฉพาะตัวคาร์โบฟูรานเอง ทางกรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวมานานแล้ว

นายนพดล มั่นศักดิ์  ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์  กล่าวว่า ทางบริษัท และแม้แต่กรมวิชาการเกษตรเองพยายามออกมาแก้ต่างว่า การที่มีการตกค้างปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักที่เรากินกันทุกวันอย่างที่ตรวจพบล่าสุดนั้นว่า เป็นเพราะเกษตรกรใช้ผิดวิธี เป็นการปัดความรับผิดชอบอย่างน่าละอาย  ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบปล่อยให้มีการขายสารเคมีอันตรายอย่างไม่มีการควบคุม บริษัทก็ส่งเสริมการขายแบบครึกโครมไม่มีข้อจำกัดใด ๆ พอมีเรื่องขึ้นมาก็มาโทษเกษตรกรแต่เพียงผู้เดียว  ทั้งที่การจะควบคุมสารเคมีอันตรายในอาหารที่ได้ผลที่สุดคือการควบคุมที่ต้นทาง ตัวไหนเป็นอันตรายร้ายแรงมาก ๆ มีการใช้อย่างกว้างขวางควรยกเลิก หรือห้ามไม่ให้มีการใช้”

นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอิสาน ยังกล่าวอีกว่า “ผู้บริหารบางคนในกระทรวงเกษตรฯและบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ร่ำรวยจากการค้าสารพิษโยนบาปให้แก่เกษตรกรว่าเป็นจำเลยของปัญหานี้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น  ทางเครือข่ายจะจับตา และติดตามกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งนี้อย่างใกล้ชิด  หากกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนยันให้มีการขึ้นทะเบียน หรือมิได้มีการดำเนินการให้มีการประกาศห้ามใช้สารพิษ 4 ชนิดข้างต้น เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อเปิดโปงให้สาธารณชนให้รับทราบความจริง และดำเนินการยื่นเรื่องต่อ ปปช.ให้ตรวจสอบทรัพย์สิน และการทุจริตของข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนและแบนสารพิษร้ายแรง 4 ชนิดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

 

เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกซึ่งมีตัวแทนมาจากทุกภาคของประเทศ ขอเรียกร้องให้กรมวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการรับขึ้นทะเบียน  และเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อการนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรงดำเนินการเพื่อมิให้มี การผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด คือคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นโดยทันที เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว

ขณะนี้สถานการณ์ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยอยู่ในขั้นเลวร้ายเกินจะยอมรับได้แล้ว ดังผลการตรวจสอบผักของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบว่าผักซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการบริโภคของประชาชนจำนวน 7 ชนิด มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นผักที่ขายอยู่ในห้างขนาดใหญ่ ตลาดสดทั่วไป ตลอดจนรถเร่ โดยในจำนวนนั้นเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิดที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้วรวมอยู่ด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทุกกลุ่มกำลังตายผ่อนส่งจากปัญหาการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

เกษตรกรทั่วประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตก็มีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เพราะผลการตรวจเลือดของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดเผยให้เห็นว่าเกษตรกรไทย ประมาณ 40% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดในระดับที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย นี่คือมูลเหตุสำคัญของคนที่ญาติพี่น้องและเพื่อนรอบข้างของเราต้องตายและทุกข์ ทรมานด้วยโรคมะเร็ง โดยไม่นับโรคและปัญหาอื่นๆที่เกิดจากสารพิษเหล่านี้

ผู้บริหารบางคนในกระทรวงเกษตรฯและบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ร่ำรวยจากการค้าสารพิษโยนบาปให้แก่เกษตรกรว่าเป็นจำเลยของปัญหานี้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออำนาจตัดสินใจในการยื่นขอทะเบียน อนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียน และกำหนดให้ยกเลิกการใช้อยู่ในมือของตน หาใช่เกษตรกรและผู้บริโภคไม่

ไม่มีเหตุผลใดๆที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะทำงานการขึ้นทะเบียน และผู้รับผิดชอบหลักในการเสนอให้มีการห้ามใช้สารพิษอันตรายร้ายแรงยังคงอนุญาตให้มีการแพร่กระจายสารพิษร้ายแรง 4 ชนิดดังกล่าวในปประเทศไทย เพราะขณะนี้ ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก เมโทมิลของบริษัทดูปองท์ถูกห้ามใช้แล้วในยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งคาร์โบฟูรานของบริษัทเอฟเอ็มซีที่ถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรปและสหรัฐแล้วเพราะเป็นอันตรายเกินกว่าจะยอมรับได้

เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกำลังจับตาว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 นี้จะเป็นแค่เพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นทะเบียนของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจสารพิษตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่อย่างไร

หากกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนยันให้มีการขึ้นทะเบียน หรือมิได้มีการดำเนินการให้มีการประกาศห้ามใช้สารพิษ 4 ชนิดข้างต้น เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อเปิดโปงให้สาธารณชนให้รับทราบความจริง ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล ตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการกระทำส่อไปในทางทุจริต  รวมถึงการรณรงค์สาธารณะเพื่อต่อต้านสินค้าของบริษัทที่แสวงหาผลประโยชน์จากชีวิตของประชาชนอย่างปราศจากจริยธรรม

เครือข่ายผู้บริโภค
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
9 สิงหาคม 2555