เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรเพิกถอนทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

ตามที่บริษัทซินเจนทาได้เผยแพร่ข่าวสารเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนนโยบาย ระงับการนำเข้า จำหน่าย และไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต”  โดยอ้างว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของเกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านคนสูงขึ้น และบริษัทยืนยันว่าความเป็นอันตรายของสารดังกล่าว “ไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน” “องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง” และอ้างว่ายังคงมีการใช้พาราควอตในหลายประเทศ เช่น อียู และเวียดนาม เป็นต้น
พร้อมกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยกล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ถอนและระงับการนำเข้าสารเคมีพาราควอต นั้น “ในฐานะที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร ตนจึงเชิญตัวแทนเอ็นจีโอเข้ามาคุย พร้อมให้นำเอกสารหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน แต่ในเวทีการหารือเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ มีเพียงบทความที่ลงในสื่อต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการถอดถอนสารเคมีหรือห้ามนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นจากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าสารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่
มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และตัวแทนองค์กรชุมชนท้องถิ่นที่ตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบของสารพิษกำจัดศัตรูพืช เห็นว่าข้อมูลและข่าวสารที่เผยแพร่ดังกล่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ไม่เหมาะสม และอาจนำไปสู่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรในทิศทางที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และสร้างผลกระทบต่อประชาชน ดังนี้
1. มีความพยายามของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากการค้าสารพิษเบี่ยงเบน ลดทอนความชอบธรรม
การยกเลิกสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงว่า มาจากแรงผลักดันขององค์กรสาธารณประโยชน์เป็นหลัก ทั้งๆที่ข้อเสนอดังกล่าวมาจากมติของ “คณะกรรมการการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง”  ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีตัวแทนของ 4 กระทรวงหลักรวมทั้งตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมด้วย โดยก่อนที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะมีคำแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอต  คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 นั้น คณะทำงานฯได้มีการประชุมหลายครั้ง และเชิญนักวิชาการจากสถาบันต่างๆเพื่อให้ข้อมูล ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีมติดังกล่าว โดยข้อเสนอให้มีการแบนสารคลอร์ไพริฟอสเองก็มาจากข้อเสนอของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรเองที่เห็นว่าการจำกัดการใช้สารดังกล่าวบังคับใช้ได้ยากกว่าการประกาศแบน
2. คณะผู้แถลงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงเกษตรฯ กรณีคำสัมภาษณ์ ของ รมช.กระทรวงเกษตรฯว่ามีเจตนาเช่นไร ที่อ้างว่า “จากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าสารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่”  เนื่องจากโดยหลักการซึ่งพิจารณาตามบทบาทและความเชี่ยวชาญแล้ว กระทรวงสาธารณสุขคือหน่วยงานหลักของรัฐในการวินิจฉัยปัญหาของสารพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไม่ใช่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะอนุญาตให้มีการใช้ต่อไปได้ กรมวิชาการเกษตรควรมีหน้าที่ยุติการขึ้นทะเบียนและเพิกถอนทะเบียนสารพิษดังกล่าวตามอำนาจในมาตรา 38 และมาตรา 40 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย และหาทางเลือกอื่นในการกำจัดวัชพืชแนะนำต่อเกษตรกร มิใช่แตะถ่วงดึงเรื่องวินิจฉัยความเป็นอันตรายของสารพิษมาอยู่ในมือของกรมฯซึ่งตัวเองไม่ได้เชี่ยวชาญและมีความรู้มากพอ
นอกเหนือจากนั้น คำให้สัมภาษณ์ของรมช.กระทรวงเกษตรฯที่อ้างว่า “ได้เชิญเอ็นจีโอเพื่อให้นำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแบนพาราควอต และเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน” ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อหารือเรื่อง “นโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย และการสุ่มตรวจความปลอดภัยของสินค้า” มิได้เชิญให้เตรียมนำเสนอเกี่ยวกับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามที่ปรากฎในข่าวแต่ประการใด (ตามจดหมายเชิญ กษ.0929/1547 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560)
3. กรณีผู้บริหารของบริษัทซินเจนทาได้ให้สัมภาษณ์เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการ ระงับการนำเข้า
จำหน่าย และไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุการขึ้นทะเบียนพาราควอต โดยปรากฏในสื่อหลายฉบับนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าโดยไม่รับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
3.1 การกล่าวหาว่าข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องพาราควอตมีผลกระทบต่อสุขภาพนั้นไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนไม่เป็นความจริง   ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องผลกระทบของพาราควอตว่าทำมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 104 ชิ้น อย่างเป็นระบบ (meta analysis) ของ Gianni Pezzoli และ Emanuele Cereda ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology May 28, 2013 vol. 80 no. 22 โดยจากการศึกษาทั้งแบบ cohort และ case-control ยืนยันว่าการสัมผัสสารพาราควอตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน
การอ้างเหตุผลว่าพาราควอตไม่น่าจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้  เพราะลักษณะโมเลกุลไม่สามารถผ่านผนังเซลล์ของสมองได้นั้น  งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พิสูจน์พบว่า พาราควอตสามารถเข้าสมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ โดยอาศัยกลไกพิเศษ (neutral amino acid pump) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลองจริง  งานวิจัยของสถาบันฯยังพบด้วยว่าพาราควอตสามารถทำให้เซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง (A549) ได้รับผลกระทบและทำให้สัตว์เคลื่อนไหวผิดปกติซึ่งเป็นอาการของพาร์กินสัน
3.2 การที่ซินเจนทาอ้างว่าพาราควอตเป็น “สารที่ไม่อันตรายสูง” นั้น เป็นการส่งสัญญาณผิดๆต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป แม้ว่าค่าความเป็นพิษ ( LD50 ) ที่ระดับ 113.5 มก./กก. ของพาราควอต  (WHO 2002)  หมายถึงการได้รับพาราควอตทางปากเพียง 6.15 ซีซี (หรือประมาณมากกว่าหนึ่งช้อนชาเล็กน้อย) ก็ทำให้ผู้ได้รับสารพิษมีโอกาสเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เป็นปัญหาสำคัญของพาราควอตคือผลจากการนำมาฉีดพ่น เกิดการสัมผัสกับผิวหนัง  การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน จนมีรายงานพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายกรณี
3.3 บริษัทอ้างว่าพาราควอตยังมีการใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม เป็นต้น เป็นการให้ข้อมูลเท็จ สหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้มีการใช้พาราควอต(ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน)ซึ่งเป็นผลจากคำตัดสินของศาลของประชาคมยุโรป เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2007 ครอบคลุมทั้ง 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป  แต่ถ้าไล่เรียงการเคลื่อนไหวในการยกเลิกการใช้ในแต่ละประเทศสมาชิก จะพบว่ามีการยกเลิกมาเป็นลำดับ เช่น ประเทศสวีเดน ห้ามใช้พาราควอตในปี 1983 ประเทศฟินแลนด์  มีการยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1986 เนื่องจากพาราควอตมีความเป็นพิษสูงถึงแม้ได้รับในปริมาณน้อย และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ประเทศฮังการี ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1991 เนื่องจากมีอัตราการตายที่สูงเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ ประเทศเดนมาร์ก ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1995 เนื่องจากพาราควอตสามารถตกค้างในดินได้นาน และมีพิษร้ายแรง กระต่ายที่กินหรือเดินบนหญ้าที่มีพาราควอตปนเปื้อนทำให้เสียชีวิตได้ แม้แต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทซินเจนทาเองก็ไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 1990 ในขณะที่เวียดนามประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 โดยกำหนดระยะเวลา phase out ภายใน 2 ปี จากกการประมวลข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)พบว่าพาราควอตไม่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้ใน 47 ประเทศทั่วโลก
3.4 บริษัทอ้างว่าการแบนพาราควอททำให้เกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ขาดทางเลือกและต้องมีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชแพงขึ้นซึ่งไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น
3.4.1 กรณีอ้อย
  • งานศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นาตยา กาฬภักดี และ อรรถสิทธิ์ บุญธรรม 2012) พบว่า 1) การปลูกถั่วพุ่มระหว่างแถวอ้อย  2) การใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืช 3) การใช้จอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ และ 4) การใช้พลาสติกคลุมดินระหว่างแถวอ้อย  ได้ผลผลิตอ้อยไม่แตกต่างกับวิธีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช โดยที่การใช้จอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์มีต้นทุนต่ำที่สุด และการใช้จอบหมุน ร่วมกับการการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ผลกำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ
  • งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเรื่องวิธีจัดการวัชพืชแบบผสมผสานในอ้อยโดยลดการใช้สารกำจัดวัชพืช พบว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชก่อนงอก เพนดิเมทาลินกับอิมาซาพิก (pendimethalin+imazapic) ร่วมกับปลูกปอเทืองที่ 30 วันหลังพ่นสารแล้วตัดปอเทืองคลุมดินที่ 50 วันหลังปลูกสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและระยะเวลาในการควบคุมวัชพืชยาวนาน และมีผลผลิตสูงกว่าใช้สารก่อนงอกร่วมกับพ่นพาราควอตที่ 60 วันหลังปลูก
  • กรมวิชาการเกษตรวิจัยหาวิธีการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกที่เหมาะสมแต่ละแหล่งปลูก พบว่าทางเลือกหนึ่งในการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกเมื่อมีปัญหาแรงงาน เวลา และปัญหาการใช้เครื่องทุ่นแรงในระยะดินเปียกและแฉะคือใช้สารอะมีทรีน (ametryn) ซึ่งราคาถูกกว่าพาราควอต
  • งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในปี 2551 พบว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นหลังปลูกอ้อย 45 วัน ของศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมาไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ และการใช้พาราควอตให้ผลผลิตอ้อยต่ำกว่าการกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น ส่วนการใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม รวมทั้งจอบหมุนติดท้ายรถแทรคเตอร์ให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืช
3.4.2 กรณีมันสำปะหลัง
  • งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในปี 2556 พบว่าจากการทดลองใน 7 จังหวัดในมันสำปะหลังพบว่าการ ใช้สารเอส-เมโทลาคลอร์กับฟลูมิออกซาซิน (s-metolachlor+flumioxazin) และสารอะลาคลอร์กับไดยูรอน (alachlor+diuron) มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดีมากจนถึงระยะ 60 วัน หลังใช้สารในทุกพื้นที่ที่ทำการทดลอง มากกว่าวิธีการใช้สารเดี่ยวก่อนงอก หรือการใช้พาราควอตหลังงอก
3.4.3 กรณีปาล์มน้ำมัน
  • กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ใช้สารกลูโฟซิเนต แอมโมเนียม คำแนะนำดังกล่าวของสอดคล้องกับงานวิจัยของ UPM (Universiti Putra Malaysia) ในมาเลเซียที่พบว่า สารเคมีชนิดอื่น เช่น กลูโฟซิเนต แอมโมเนียม และไกลโฟเสต “มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชในสวนปาล์มดีกว่าพาราควอตมาก” เมื่อวัดจากตัวชี้วัดสำคัญในการกำจัดวัชพืช เช่น อัตราการตาย น้ำหนักแห้งของวัชพืช และความหนาแน่นของวัชพืช เป็นต้นและแม้ว่ากลูโฟซิเนตมีราคาแพงกว่าพาราควอตประมาณ 4-5 เท่า แต่ประสิทธิภาพการกำจัดวัชพืชของกลูโฟซิเนตสูงกว่า จากการทดลองพบว่า ต้องมีการใช้พาราควอตในปริมาณสารออกฤทธิ์มากถึง 4 เท่าของกลูโฟซิเนต แอมโมเนียม ในขณะที่ไกลโฟเซตซึ่งงานวิจัยพบว่ากำจัดวัชพืชมีประสิทธิภาพกว่าพาราควอตนั้น ราคาถูกกว่าประมาณ 30-40%และต้องใช้มากเป็น 2 เท่าของไกลโฟเสต ถึงจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสองสารดังกล่าว   ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงไปสารอื่นๆใช้กลูโฟซิเนตจึงไม่ได้แพงมากดังที่มีการกล่าวอ้าง
4. การต่อต้านการใช้พาราควอตของผู้บริโภคและตลาดโลก
ปัญหาผลกระทบของพาราควอตที่มีต่อเกษตรกรและแรงงานในการผลิตทางการเกษตร เช่น ปาล์ม กล้วย และอ้อย เป็นต้น เกิดแรงกดดันให้ตลาดโลกปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้พาราควอตมากขึ้นๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ของโลกซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกันกว่า 14.5 ล้านไร่ ยุติการใช้พาราควอตอย่างสิ้นเชิง เช่น
  • Golden Agri Resources -GAR บริษัทสัญชาติมาเลเซียซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มเกือบ 500,000 แฮกตาร์ประกาศยุติการใช้พาราควอตนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2016 เป็นต้นไป
  • Sime Darby บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 1 ล้านแฮกตาร์ ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย ปาปัวนิวกินี และโซโลมอน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ (600,000 แฮกตาร์) ปลูกปาล์มน้ำมัน บริษัทนี้ยุติการใช้พาราควอตตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000
  • Wilmar บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ มีพื้นที่ปลูกปาล์มรวม 241,892 แฮกตาร์ โดย 69% อยู่ในอินโดนีเซีย 24% อยู่ในมาเลเซีย และ 7% อยู่ในแอฟริกา บริษัทนี้เริ่มเฟสเอาท์พาราควอตตั้งแต่ปี 2008 และยกเลิกโดยสมบูรณ์ในปี 2011 รวมทั้งกำหนดให้บริษัทผู้ปลูกปาล์มอื่นๆที่จัดส่งวัตถุดิบให้ต้องยุติการใช้พาราควอตภายในปี 2015
  • IndoAgri ยักษ์ใหญ่อินโดนีเซีย ผู้ผลิตปาล์ม 335,000 แฮกตาร์ ประกาศ “นโยบายการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืน 2017 ” เมื่อเร็วๆนี้ว่า จะยุติการใช้พาราควอตในทันที
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป มาตรฐานของการผลิตและสินค้าที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมกลายเป็นคุณค่าที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป ดังตัวอย่างมาตรฐานการผลิตปาล์มที่ยั่งยืน RSPO NEXT ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตปาล์มต้องยกเลิกการใช้พาราควอต เป็นต้น ขณะนี้การต่อต้านการใช้พาราควอตของตลาดโลกยังขยายไปสู่การผลิตพืชอื่นๆ เช่น กล้วย อ้อย และอาจรวมไปถึงมันสำปะหลังในที่สุดด้วย
ประเทศไทยปล่อยปละละเลยให้มีการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชโดยปราศจากการควบคุมอย่างเข้มงวดมานานเกินพอ จนประเทศซึ่งมีขนาดพื้นที่เล็กๆแห่งนี้มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก สร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่งผลกระทบต่อปัญหาการตกค้างของสารพิษในอาหาร และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว และมีอำนาจตามมาตรา 38 และมาตรา 40 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ต้องรีบดำเนินการเพิกถอนทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผลจากมติของคณะทำงานที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบโดยเร็ว
การเตะถ่วงเรื่องนี้ออกไปโดยอ้างผลกระทบต่อเกษตรกร ทั้งๆที่สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของเกษตรกรทั่วประเทศเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง อาจสร้างความคลางแคลงใจว่าผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบรรษัทสารพิษ ?