นานาสาระสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide: pest = ศัตรูพืช, -cide = การฆ่าหรือกำจัด) คือ สารเคมีสังเคราะห์ที่มีวัตถุประสงค์ในการกำจัด ขับไล่ หรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นแมลง วัชพืช โรคพืช หรือสิ่งที่จะทำลายให้พืชผลเกิดความเสียหาย โดยทั่วไปเรียกว่ายาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าตามวัตถุประสงค์ของการใช้ แต่การใช้คำว่า “ยา” อาจเป็นการสร้างความสับสนต่อผู้ใช้ เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสารเคมีอันตรายทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการใช้อย่างระมัดระวัง เพราะในปริมาณน้อยนิดสารเคมีเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการพิษต่างๆ หรือแม้แต่การเสียชีวิตได้

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ตามลักษณะทางเคมี โดยมีกลุ่มหลักๆ ต่อไปนี้

กลุ่ม

ลักษณะและความเป็นพิษ

คาร์บาเมท (carbamate) ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารเคมีกำจัดแมลง (คาร์โบฟูราน คาร์บาริล ฟีโนบูคาร์บ)แต่บางชนิดสามารถใช้กำจัดวัชพืช  สารเคมีในกลุ่มนี้เป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรงแม้จะเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้
ออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) ใช้เพื่อกำจัดแมลง (คลอไพรีฟอส ไดอาซินิน) และวัชพืช (เบนซุไลด์) เป็นพิษสูงต่อผึ้งและสัตว์ป่า รวมถึงมีความเป็นพิษต่อระบบประสาทมากกว่าคาร์บาเมท และกระบวนการไม่สามารถย้อนกลับได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยถูกวิจัยให้เป็นอาวุธเคมีของพรรคนาซี แต่ยังไม่เคยถูกใช้เพื่อจุดประสงค์นั้น
ออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) สารเคมีในกลุ่มนี้สามารถตกค้างในธรรมชาติได้ยาวนาน และมีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสารเคมีหลายชนิดในกลุ่มนี้ (DDT, เอ็นโดซัลแฟน, อัลดริน ฯลฯ) ถูกแบนแล้วทั่วโลกเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคเรื้องรังอื่นๆ รวมถึงสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานหลายสิบปี
ไพรีทรอยด์ (pyrethroid) สารสังเคราะห์ที่มีคุณลักษณะคล้ายกับสารไพรีทรินส์ที่สกัดจากพืชในกลุ่มเดียวกับต้นเก็กฮวย ถูกใช้กำจัดแมลงทั้งในการเกษตรและในครัวเรือน (เช่น สารไซฟูธริน หรือไซเพอร์เมทรินที่ใช้ในการกำจัดแมลงสาบและมด) เป็นพิษต่ำถึงปานกลางต่อมนุษย์ แต่อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ และชักได้ สารเคมีเป็นพิษสูงต่อสัตว์น้ำ ผึ้ง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด
ฟีน๊อกซี (phenoxy herbicide) ใช้กำจัดวัชพืชใบกว้าง เช่น 2,4-D และ MCPA สารที่ชื่อ Agent Orange เคยถูกใช้ในสงครามเวียดนามเพื่อทำลายพืชผล แต่กลับทำให้ทหารและพลเรือนชาวเวียดนามกว่า 400,000 คนเสียชีวิตเพราะความเป็นพิษของสารเคมี ส่วนเด็กที่เกิดมาจากแม่ที่ได้รับสารนี้จะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

รูปแบบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสารตั้งต้น (หรือ สารออกฤทธิ์: Active Ingredient) จึงต้องนำเข้าสารเคมีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบเข้มข้นทั้งประเภท premix และ technical grade เพื่อมาปรุงแต่งและแบ่งบรรจุ สารเคมีที่ปรุงแต่งเสร็จแล้วจะมีสารออกฤทธิ์ที่น้อยลง เนื่องจากผ่านการเติมสารผสม (Inert Ingredients) เช่น สารจับใบ สารละลาย สารลดแรงตึงผิว เป็นต้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ อย่างไรก็ตาม สารผสมเหล่านี้อาจมีความอันตรายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ผสมกับราวด์อัพ (ไกลโฟเสท) เป็นต้น ที่น่าสนใจคือมีการผสมสารที่ทำให้อาเจียนในสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิด เพื่อลดการเกิดพิษในกรณีที่ถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น การฆ่าตัวตาย หรือเมื่อรับสารเข้าไปโดยอุบัติเหตุ

 

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีรูปแบบที่หลากหลาย ชนิดผงมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1) ผงฝุ่นละเอียด (Dustable powder: DP) ที่เอาไว้โรยและไม่ต้องผสมน้ำ แต่สารเคมีอาจฟุ้งกระจาย 2) ผงผสมน้ำ (Wettable powder: WP) ที่ต้องใช้ทันทีเพื่อไม่ให้ตกตะกอน 3) ผงแบบละลายในน้ำได้ (Soluble power: SP) ซึ่งจะไม่ตกตะกอน อต่เมื่อเก็บไว้นานๆ มักจับตัวเป็นก้อนแข็ง นอกจากนี้ยังมีในส่วนที่เป็นรูปแบบเม็ด (Tablet: TB หรือ WT) แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับยารักษาโรค รูปแบบเม็ดทราย (Granule: GR) เพื่อใช้หว่านหรือหยอดในดินเท่านั้น ห้ามละลายน้ำ ออกฤทธิ์ซึมเข้าไปผ่านระบบราก สารเคมีในรูปแบบของเหลวมีอยู่ประมาณ 5 รูปแบบคือ 1) ส่วนผสมสารเข้มข้น (Emulsifiable Concentrate: EC) ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด ต้องผสมน้ำก่อนใช้ มีสีขาวขุ่นและกลิ่นเหม็น สามารถดูดซึมได้ดีจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง 2) แคปซูล (Capsule Suspension: CS)ที่มีสารเคมีรูปแบบของเหลวอยู่ข้างใน และจะซึมออกช้าๆ มีฤทธิ์คงทนยาวนาน  3) สารเข้มข้นแขวนลอย (Suspension Concentrate: SC) โดยสารออกฤทธิ์จะเป็นของแข็งแขวนลอยในสารละลายไม่ออกฤทธิ์ 4) สารเข้มข้นละลายได้ (Soluble Concentrate: SL) ซึ่งสารออกฤทธิ์จะละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้ดี 5) ของเหลวปริมาตรต่ำ (Ultra Low Volume Liquid) ที่ใช้สำหรับเครื่องพ่น อาจนับได้ว่าเป็นแบบ EC ชนิดพิเศษ

 

สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย

แนวโน้มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ในยุคปฏิวัติเขียวเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว หากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี 2540 จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ต่อปี หรือประมาณ 3 เท่าตัว โดยในปี 2553 มีการนำเข้าสารเคมีมากถึง 117,698,480 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ 69,868,409 กิโลกรัม เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 17,924,407,345 บาท แต่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพียง 4% เท่านั้นที่ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในแต่ละปี

 

การใช้สารเคมีส่วนใหญ่เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชกว่า 70% สารเคมีกำจัดแมลงประมาณ 15% สารเคมีกำจัดโรคพืช 10% ส่วนที่เหลือเป็นสารกำจัดหนู สารรมควัน ฯลฯ โดยสารเคมีที่ใช้มากอันดับหนึ่งคือไกลโฟเสท ตามมาด้วยพาราควอต ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นพิษสูงในกลุ่มสารเคมีกำจัดวัชพืชด้วยกัน ส่วนสารเคมีกำจัดแมลงอันดับต้นๆ ของการนำเข้าคือ คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ที่อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรไทยในภาพรวมนิยมใช้สารเคมีที่ค่อนข้างแรง มีความเป็นพิษสูง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเติมเต็มช่องว่างทางข้อมูลและปรับปรุงกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดปัญหาทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา

 


เรียบเรียงจาก