อุตสาหกรรมเคมีเกษตร

อุตสาหกรรมเคมีเกษตรระดับโลก

ตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่ผูกขาดมากที่สุดในโลก โดยมีบรรษัทข้ามชาติเพียง 10 บรรษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 89 ของตลาดโลกในค.ศ. 2007 และในปีถัดมายังมีมูลค่าการตลาดสูงขึ้นร้อยละ 22 รวมเป็น 42,112 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท

ตารางที่ (1) มูลค่าตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของโลกปี 2008 และ 2007 และส่วนแบ่งตลาด

ชื่อบรรษัท

ประเทศ

มูลค่าตลาด (ล้านดอลล่าห์สหรัฐ) 2008

มูลค่าตลาด (ล้านดอลล่าห์สหรัฐ) 2007

อัตราการเปลี่ยนแปลง 2008/07

ส่วนแบ่งตลาดปี 2007

1

Syngenta Switzerland

$9,231

$7,285

27%

19%

2

Bayer* Germany

$8,682

$7,458

17%

19%

3

Monsanto** US

$5,333

$3,599

42%

9%

4

BASF Germany

$4,991

$4,297

16%

11%

5

Dow Agrosciences* US

$4,065

$3,779

19%

10%

6

DuPont US

$2,640

$2,369

10%

6%

7

Makhteshim Agan Israel

$2,335

$1,895

24%

5%

8

Nufarm*** Australia

$2,287

$1,470

26%

4%

9

Sumitomo Chemical Japan

$1,378

$1,209

10%

3%

10

Arysta Lifescience Japan

$1,170

$1,035

13%

3%

รวม

$42,112

$34,396

22%

89%

* ไม่รวมกิจการด้านเมล็ดพันธุ์         ** จบปี พฤศจิกายน 2008           *** จบปี มกราคม 2009

ข้อมูลจาก Agri Marketing, 2009 http://news.agropages.com/News/NewsDetail—1318.htm และ Who Owns Nature? Corporate Power and the Final Frontier in the Commodification of Life, ECT Group, 2008;  Agrow World Crop Protection News, 2008

 

หากเปรียบเทียบผู้นำตลาดสารเคมีเกษตรของโลกในค.ศ.1996/97 กับในปัจจุบัน จะพบว่า 6 บรรษัทผู้นำที่มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 74 ของปัจจุบันนั้นเกิดจากการรวมกิจการของหลายบรรษัทใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะซินเจนทาและไบเออร์ (ภาพประกอบที่ 1.1 และ 1.2) ซึ่งมีประวัติการรวมกิจการที่ยาวนานและซับซ้อน ผ่านการรวมหรือซื้อกิจการอื่นเกือบสิบครั้งในระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา ส่วนบรรษัทอันดับที่ 7 ถึง 10 จากรายชื่อผู้นำตลาด (Top 10) ได้เติบโตขึ้นหลังการหมดอายุของสิทธิบัตรสารเคมีเกษตรหลายชนิด

แต่ระหว่างบรรษัทเหล่านี้ก็มีการร่วมมือกัน เช่น การรวมทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา หรือการร่วมก่อตั้งสหพันธ์ ครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นเนล (Crop Life International) ที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ที่ปลอดภัย” ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

บริษัทและตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย

ตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉ.1) ที่สนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในรูปแบบอุตสาหกรรม โดยในช่วงปฏิวัติเขียวตั้งแต่ปี 2504 ผู้ประกอบการคนไทยดำเนินธุรกิจปุ๋ยเคมีควบคู่กับการเป็นตัวแทนจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากบรรษัทข้ามชาติ เมื่อตลาดเติบโตขึ้นจึงมีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติมาตั้งสาขาของตนเองในประเทศ เช่น มอนซานโต้ในปี 2511 และไบเออร์ครอปไซน์ในปี 2525 (ปัจจุบันชื่อ ไบเออร์ไทย) เป็นต้น การขยายตัวทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติทำให้ผู้ประกอบการไทยหันไปซื้อสารเคมีชื่อสามัญ (generic) จากแหล่งผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินเดีย มากขึ้น

ธุรกิจเคมีเกษตรในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีผู้นำเข้า 236 ราย ผู้ผสมปรุงแต่งสารเคมี 90 ราย  ผู้ขายส่ง 543 ราย และผู้ขายปลีก 15,822 ราย มีอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 6-7% ต่อปี โดยมีผู้ครองตลาด 5 รายแรก ได้แก่ ซินเจนทาครอปโปรเทคชั่น เอราวัณเคมีเกษตร ไบเออร์ไทย ลัดดา และเมเจอร์ฟาร์ ครอบครองตลาด 36% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด บริษัทเหล่านี้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างครบวงจรตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การนำเข้า ผลิต/ปรุงแต่ง และจำหน่าย และยังได้ประกอบกิจการในด้านอื่นๆ เช่น เคมีภัณฑ์ด้านโภชนาการ การแพทย์ ปิโตรเคมี ฯลฯ ยกเว้นบริษัทซินเจนทาแห่งเดียวที่มีเพียงธุรกิจสารเคมีเกษตร

ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยนโยบายส่งเสริมการขายนานัปการ  ในทวีปเอเชีย บรรษัทเคมีเกษตรได้ลงทุนด้านการส่งเสริมการขายถึง 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และสำหรับประเทศไทย การสำรวจค่าใช้จ่ายของ 7 บริษัทรายใหญ่ผู้นำเข้า ผสมปรุงแต่ง และจำหน่ายสารเคมีเกษตร (ได้แก่ บริษัทโซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล, เจียไต๋, เชอร์วู้ด เคมิคอล, ที.เจ.ซี. เคมี, เมเจอร์ฟาร์ คอร์ปอเรชั่น, เอสแอนด์พี ฟอร์มูเลเตอร์, และ ฮุยกวง) ชี้ว่า มีการลงทุนด้านการตลาดและโฆษณา 400 ล้านบาทในปี 2552  ซึ่งมากกว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสารเคมีในปีเดียวกันที่มีมูลค่า 8.5 ล้านบาท (46 เท่าตัว)

นอกเหนือจากการใช้ช่องทางการสื่อสารและโฆษณาแล้ว บริษัทยังใช้กลวิธีเพิ่มชื่อการค้าและทำให้เกษตรกรผู้ซื้อเกิดความสับสนเพื่อสร้างความแตกต่างและเปิดช่องทางการซื้อขาย เช่น มีการจดทะเบียนการค้าสารเคมีเกษตรในชื่อต่างกัน แม้ว่าจะเป็นสารชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกัน แหล่งผลิตจากต่างประเทศเดียวกัน และผู้ประกอบการในประเทศบริษัทเดียวกัน

ตารางที่ (2) ผู้นำด้านการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูในปี 2550

การร่วมมือกันของเหล่าบริษัทเคมีเกษตร

แม้การแข่งขันทางการตลาดยังอยู่ในระดับสูง แต่บริษัทสารเคมีเกษตรมีการร่วมมือกันเพื่อประสานงานกับภาครัฐ และสร้างความเข้มแข็งในการประกอบกิจการผ่านโครงการต่างๆ ผ่านการทำงานของสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งครอบคลุมทั้งธุรกิจยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี และสมาคมอารักขาพืชไทยซึ่งเป็นเครือข่าย สหพันธ์ครอปไลฟ์เอเชีย (Crop Life Asia) และครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นเนล (Crop Life International) สมาคมทั้งสองแห่งนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพราะมีหลายบริษัทที่อยู่ในรายชื่อสมาชิกของทั้งสองสมาคมเช่น เจียไต๋ ป.เคมีเทค และเอราวัณเคมีเกษตร กิจกรรมหลักของสมาคม ได้แก่ การประสานงานด้านวิชาการและกฎระเบียบต่างๆ เรื่องการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีเกษตรผ่านการอบรมหรือจัดงานสัมมนา การควบคุมคุณภาพของวัตถุอันตรายทางการเกษตร และการแก้ไขปัญหาสารเคมีปลอม