สารรมควันพิษ : กรณีความเสี่ยงของสารเคมีภายใต้โครงการรับจำนำข้าว

สารรมควันพิษที่ใช้ในประเทศไทย มี 2 ประเภท คือ 1) โลหะฟอสไฟด์ ได้แก่ แมกนีเซียมฟอสไฟด์ (magnesium phosphide) และอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (aluminium phosphide) และ 2) เมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) ที่อาจมีการนำเข้ามาในรูปของเมทิลโบรไมด์+คลอโรพิคริน (methyl bromide + chloropicrin) โดยมีปริมาณการนำเข้ารวมเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2555 อยู่ที่ 960.91 ตัน/ปี สารที่มีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ เฉลี่ยนำเข้าปีละ 562.81 ตัน รองลงมา คือ เมทิลโบรไมด์+คลอโรพิคริน และเมทิลโบรไมด์ มีการปริมาณการนำเข้าเฉลี่ย 357.69 และ 103.85 ตัน/ปี และที่มีการนำเข้าน้อยที่สุด คือ แมกนีเซียมฟอสไฟด์ 16.17 ตัน/ปี รายละเอียดปริมาณการนำเข้ารายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 – 2555[1] ดังแสดงในกราฟด้านล่าง

จากปริมาณการนำเข้าจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการใช้สารรมควันหลักๆ เพียง 3 ชนิด คือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ เมทิลโบรไมด์+คลอโรพิคริน และเมทิลโบรไมด์ ซึ่งสารแต่ละชนิดมีลักษณะดังนี้

อลูมิเนียมฟอสไฟด์

อลูมิเนียมฟอสไฟด์ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยมีลักษณะเป็นเม็ด เมื่อทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ จะให้ก๊าซฟอสฟีน (PH3) เป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลง

Aluminium phophide + water → hydrogen phosphide + powder reaction products

ปฏิกิริยาทางเคมี คือ  AlP + 3H2O → Al (OH)3 + PH3

สารรมฟอสฟีนที่ผลิตเป็นเม็ดจะใช้กับการรมผลิตผลเกษตรที่บรรจุกระสอบหรือถุง แล้วใช้ผ้าพลาสติกคลุม หรือรมทั้งโรงเก็บ มักใช้กำจัดแมลงและหนูในโรงเก็บผลผลิตทางการเกษตรหลายประเภท เช่น ข้าว ข้าวโพด กระเทียม มันสำปะหลัง  ใบยาสูบ เป็นต้น โดยมีอัตราการใช้รม 2-3 เม็ด/ผลผลิต 1 ตัน หรือ 1-2 เม็ด/เนื้อที่ 1 ลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน

ความเป็นพิษและความปลอดภัยในการใช้ก๊าซฟอสฟีน[2]

  1. ฟอสฟีนเป็นสารที่มีพิษสูง ดังนั้นการหายใจเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีน 2.8 มล./ลิตร หรือ 28 กรัม/ลบ.ม. (ประมาณ 2000 ppm) ทำให้เสียชีวิตได้
  2. ฟอสฟีนมีอันตรายสูงสามารถทำให้เสียชีวิตได้ถ้ากลืนกินเข้าไป การหายใจเอาก๊าซฟอสฟีนเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ปวดศีรษะ และแน่นหน้าอก
  3. ปริมาณสารฟอสฟีนตกค้างที่กำหนดไว้ในเมล็ดธัญพืชเท่ากับ 0.1 มก./กก. และธัญพืชแปรรูปเท่ากับ 0.01 มก./กก.
  4. ระดับความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนที่ปลอดภัย คือ 0.3 ppm (0.4 มก./ลิตร หรือ 0.4 กรัม/ลบ.ม.) ติดต่อกัน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  5. เป็นสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรป โดย EFSA ได้กำหนดค่า ADI = 0.01มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว กิโลกรัม/วัน และ ARfD = 0.019 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว กิโลกรัม/วัน[3]

เนื่องจากสารรมชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ด จึงใช้ง่ายและสะดวก เกิดอันตรายได้ยากถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง เป็นพิษต่อร่างกายถ้าสูดดมหรือกลืนกิน ไม่ซึมเข้าทางผิวหนัง[4] อาการของผู้ที่ได้รับพิษจากก๊าซฟอสฟีน คือ มีพิษต่อระบบหายใจอย่างรุนแรงเมื่อสูดดม ทำให้ไอ รู้สึกแสบร้อนคอ ปวดจุกบริเวณหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว ปอดบวมน้ำ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด จนถึงหายใจล้มเหลวได้ อาจเกิดภาวะ Adult respiratory distress syndrome (ARDS) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาการระบบประสาทคือ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ เดินเซ มือสั่น ถ้าได้รับสัมผัสมากๆ อาจทำให้ ชัก หมดสติ อาการของหัวใจคือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีทั้งแบบ ST-T wave changes, global hypokinesia หรือ atrial and ventricular arrhythmias แบบอื่นๆ ระดับเอนไซม์หัวใจสูงขึ้น มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ หัวใจล้มเหลว กรณีกินก้อน aluminium phosphide เข้าไปจะทำให้เกิดอาการระบบทางเดินอาหารคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย การได้รับปริมาณสูงทำให้ การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว ชัก ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบ ต่อมหมวกไตวาย ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ [5]

การต้านทานของแมลงต่อสารรมฟอสฟีน

พบแมลงหลายชนิดสร้างความต้านทานต่อสารรมฟอสฟีน ได้แก่ ด้วงอิฐ Trogoderma granarium Evert (Coleoptera : Dermestidae) มอดข้าวเปลือก Rhyzopertha dominica (F.) (Coleoptera : Botrychidae) และมอดฟันเลื่อย Oryzaephilus surrinamensis L. (Coleoptera : Silvanidae) เช่น กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร กองกีฏและสัตววิทยา[6] พบความต้านทานของมอดข้าวเปลือกในปี พ.ศ. 2534 โดยมอดข้าวเปลือกจากจังหวัดเชียงราย สกลนคร และสุพรรณบุรี แสดงความต้านทานต่อสารรมฟอสฟีน และมอดข้าวเปลือกจากจังหวัดเชียงรายแสดงความต้านทานต่อสารรมฟอสฟีน ประมาณ 3 เท่า

หมายเหตุ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร

เมทิลโบรไมด์

หรือชื่อทางเคมี คือ โบรโมมีเทน (Bromomethane) มีสูตรโมเลกุล CH3Br เป็นสารรมที่มีการใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1932 มีสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น หนักกว่าอากาศ 3.4 เท่า มีจุดเดือดที่ 3.6 ºc ที่ความดัน 760 มม.ปรอท (นั่นคือจะระเหยเป็นก๊าซทันทีที่อุณหภูมิปกติ) ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด ไม่กัดกร่อนโลหะ มีความสามารถแทรกซึมสูง รวดเร็วและทั่วถึง กระจายตัวได้เร็ว มีพิษต่อพืชและความงอกของเมล็ดพันธุ์บางชนิด เป็นพิษต่อแมลงและสัตว์เลือดอุ่นสูงมาก มี ceiling concentration 5 ppm  (หมายความว่า ถ้าหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปเกินกว่า 5 ppm ทุกๆวัน วันละ 7-8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันใน 1 สัปดาห์จะเป็นอันตราย ซึ่งหากได้รับในความเข้าข้นสูง ก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้น มีข้อกำหนดไว้คือ 100 ppm ใน 7 ชั่วโมง 400 ppm ใน 1 ชั่วโมง และ 1000 ppm ใน 5 นาที) และเนื่องจากเป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น หากรั่วจะไม่สามารถทราบได้ จึงมีการผสม warning gas เข้าไปด้วย เช่น ผสม chloropicrin ซึ่งเป็นก๊าซน้ำตา ลงไป 2% หากรั่วจะรู้สึกแสบตา[7]

เป็นสารที่ใช้ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สามารถฆ่าแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีความสามารถในการฟุ้งกระจาย และแทรกซึมเข้าไปในสินค้าได้ดี โดยใช้รมควันในดิน ธัญพืช โกดัง และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย ในอดีตเคยมีการใช้เป็นสารทำความเย็นในตู้เย็น แต่เดี๋ยวนี้ไม่นิยมแล้ว เพราะอันตรายจากพิษของมัน ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ สารตัวนี้ระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้รวดเร็ว และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ในที่สุดก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง[8]

อัตราการใช้สารรมเมทิลโบรไมด์ คือ 32 กรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือ 2 ปอนด์/เนื้อที่ 1,000 ลูกบาศก์ฟุต ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ส่วนใหญ่อันตรายต่อคนจะเกิดจากการหายใจเข้าไป ทำความระคายเคืองต่อปอด และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ด้วย ในระยะสั้นจะมีอาการได้แก่ อาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน  มองไม่ชัด วิงเวียนสับสน สูญเสียการควบคุมการทรงตัว พูดอ้อแอ้ ผิวหนัง ตา และระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง ในการเป็นพิษอย่างรุนแรงทำให้เป็นอัมพาต ชัก อาการโคม่าและอาจถึงแก่ชีวิต[9][10][11][12]

ค่าครึ่งชีวิตการกลายเป็นไอของเมทิลโบรไมด์จากผิวน้ำ[13] มีอัตราอยู่ที่ 3.1 ชั่วโมงถึง 5 วัน และมีค่าครึ่งชีวิตของการสลายตัวในน้ำอยู่ที่ 20-38 วัน ขึ้นกับอุณหภูมิและความเป็นกรด-ด่าง (pH) และค่าครึ่งชีวิตการกลายเป็นไอของเมทิลโบรไมด์จากผิวดิน13 ค่อนข้างรวดเร็วด้วยอัตรา 0.2-0.5 วัน ส่วนค่าครึ่งชีวิตของการสลายตัวในดิน[14]คือ 31-55 วัน

สถานะของเมทิลโบรไมด์และคลอโรพิครินในสหภาพยุโรป[15]

สารทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสหภาพยุโรป โดยเมทิลโบรไมด์  ได้มี Review report เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2011 เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจไม่บรรจุรายชื่อสารเมทิลโบรไมด์ใน Annex I เนื่องจาก มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรงและสิ่งแวดล้อม และมีข้อกังวลถึงการขาดข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงของปริมาณที่รับสัมผัสที่เชื่อถือได้ และความไม่แน่นนอนในการประเมินความเสี่ยงของผู้ประกอบการและคนงาน สำหรับคลอโรพิคริน สหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2011 เนื่องจากมีข้อกังวลถึงความเสี่ยงต่อผู้ใช้ ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน  ความเสี่ยงจากความสามารถในการแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศ ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

หมายเหตุ

  1. เมทิลโบรไมด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร
  2. เมทิลโบรไมด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  3. เป็นสารที่อยู่ในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ทำให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี คือ ควบคุมปริมาณการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ไม่ให้เกินระดับค่าเฉลี่ยของปริมาณการใช้ของปี พ.ศ. 2538-2541 และในปี พ.ศ. 2548 ให้ลดลงร้อยละ 20 และให้ยกเลิกการใช้ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2558[16]

 

 


เอกสารอ้างอิง

[1] สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (2556)

[2] สารรมฟอสฟีน (phosphine) http://www.neoagro.co.th/pdf/Phosphine.pdf

[3] Aliminium phosphide. http://ec.europa.eu/sanco_pesticides/public/index.cfm?event=activesubsta…

[4] http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=56

[5] International Programme on Chemical Safety. International Chemical Safety Cards (ICSCs). Geneva: International Labour Office 1998. อ้างในhttp://www.summacheeva.org/index_thaitox_phosphine.htm

[6] พรทิพย์ วิสารทานนท์ ชูวิทย์ ศุขปราการ และบุษรา พรหมสถิต. 2537. ความต้านทานของมอดข้าวเปลือก Rhyzopertha dominica (Fabricius) แมลงศัตรูผลิตผลเกษตรต่อสารรมฟอสฟีน. วารสารกีฏและสัตววิทยา. 16(3) หน้า 165-173.

[7] สารรมเมทิลโบรไมด์ http://www.neoagro.co.th/pdf/MethylBromide.pdf

[8] http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=39

[9] Gehring, P. J.; Nolan, R. J.; Watanabe, P. G.; Schumann, A. M. Solvents, Fumigants and Related[1] Compounds. In Handbook of Pesticide Toxicology; Hayes, W. J., Laws, E. R.; Eds.; Academic: San Diego, CA, 1991; Vol. 2, pp 668- 671.

[10] World Health Organization. Methyl Bromide, Environmental Health Criteria, 166. Geneva, Switzerland, 1995.

[11] Monohalomethanes: Methyl Chloride, Methyl Bromide, Methyl Iodide; Current Intelligence Bulletin No. 43: U. S.
Department of Human Health & Human Services, National Institute for Occupational Safety and Health; Atlanta, GA,
1984.

[12] Wagner, S. L. The Fumigants. In Clinical Toxicology of Agricultural Chemicals. Oregon State University,
Environmental Health Sciences Center: Corvallis, OR, 1981; pp 284-290.

[13] ATSDR’s Toxicological Profiles on CD-ROM [CD-ROM]. Agency for Toxic Substances and Disease Registry, U.S. Public Health Service. CRC: Boca Raton, FL, 1997.

[14] Wauchope, R. D.; Buttler, T. M.; Hornsby A. G.; Augustijn Beckers, P. W. M.; Burt, J. P. SCS/ARS/CES Pesticide Properties Database for Environmental Decision-making. In Reviews of Environmental Contamination and Toxicology; Ware, G. W., Ed.; Spring-Verlag: New York, NY, 1992; Vol. 123, pp 1-155.

[15] EU Pesticides database source: http://ec.europa.eu/sanco_pesticides/public/index.cfm?event=homepage&CFI…

[16] พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ที่มา:  http://www2.diw.go.th/treaty/montreal/พิธีสารมอนทรีออลweb.pdf