แนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ต้นน้ำ ระบบนิเวศ และประชาชนในพื้นที่

ผลจากการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบสารเคมีตกค้างในน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และตกค้างในปลาที่เลี้ยงในพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งนี้โดยพบว่าน้ำประปามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาทราซีนเฉลี่ย 12.29 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำดื่มบรรจุขวดเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่หลายประเทศกำหนดเช่น ออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ลิตร และแคนาดากำหนดไว้ 5 ไมโครกรัม/ลิตร

นอกเหนือจากนั้นยังพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสทเกินมาตรฐานในปลาซึ่งเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำน่านทุกตัวอย่าง (19/19) พบพาราควอทเกินมาตรฐานทุกตัวอย่าง (19/19) และพบสารเคมีกำจัดแมลงคลอไพรีฟอส 15 ตัวอย่างจาก 19 ตัวอย่าง โดยในกรณีไกลโฟเสทนั้นมีการพบการปนเปื้อนสูง 1,047.48 – 9,613.34 ไมโครกรัม/ก.ก. ในขณะที่ค่ามาตรฐานที่กำหนดอยู่ในระดับเพียง 50 ไมโครกรัม/ก.ก. เท่านั้น

สารที่มีการตรวจพบเป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรงทั้ง 4 ชนิด อีกทั้งมีปริมาณการใช้สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของสารเคมีที่มีการนำเข้ามากที่สุด โดยจากสถิติเมื่อปี 2558 ไกลโฟเสทเป็นสารที่นำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสารเคมีทั้งหมด พาราควอทมีการใช้รองลงมาเป็นอันดับ 2 อาทราซีนอยู่ในลำดับที่ 4 และคลอไพรีฟอส สารเคมีฆ่าแมลงที่นำเข้ามากที่สุดอยู่ในลำดับที่ 9 ตามตาราง

พิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด

สารเคมีทั้ง 4 ชนิดมีพิษภัยร้ายแรง ทั้งที่เป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง หลายประเทศยกเลิกการใช้หรือควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ดังตาราง

แนวทางการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำตอนล่าง

1.ข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรท้องถิ่น

1.1 กรณีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนเกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารเกินระดับมาตรฐานดังผลการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร เป็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถจัดทำข้อเสนอเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างเร่งด่วน เสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 9 ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้มีคำสั่งเพื่อระงับและบรรเทาผลกระทบจากสารเคมี โดยห้ามมิให้มีการใช้สารไกลโฟเสท พาราควอท อาทราซีน และคลอไพรีฟอส ในพื้นที่ต้นน้ำเอาไว้ก่อน รวมทั้งจัดทำแผนฉุกเฉินตามมาตรา 10 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ประกาศตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้

1.2 นอกเหนือจากอำนาจตามพ.ร.บ.ดังกล่าวข้างต้นแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดยังสามารถใช้อำนาจเชิงบริหาร โดยร่วมกับองค์กรท้องถิ่นออกนโยบายและข้อเสนอแนะตลอดมาตรการต่างๆในการบรรเทาและฟื้นฟูปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว  ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในการจัดทำข้อบัญญัติของชุมชนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามความเหมาะสม

การมีส่วนร่วมของเกษตรกร และประชาชนในท้องถิ่นยังมีความจำเป็นเพื่อให้ข้อเสนอตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดและแผนฉุกเฉินตาม 1.1 สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติและได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

2.ข้อเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติ

2.1 กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องดำเนินการให้มีการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอย่างเร่งด่วน เพื่อเสนอให้มีการจัดประเภทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดซึ่งเดิมเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ซึ่งหมายถึง วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต  การนำเข้า การส่งออก  หรือการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษภัยร้ายแรงตั้งแต่ต้นทาง

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีบทบาทน้อยมากในการดำเนินการในเชิงรุกเพื่อให้มีการยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นการเฝ้าระวังและการตรวจสอบติดตามโดยประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอนี้บรรลุผล

2.2 คณะกรรมการระดับชาติ เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิเศษเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหานี้โดยเร็ว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกหรือจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิดให้เกิดขึ้นจริง รวมทั้งมาตรการระยะยาวที่คณะกรรมการชุดนี้กำลังดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตลอดห่วงโซ่ โดยการยกเครื่องกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชฉบับใหม่ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับการจัดการปัญหาทั้งระบบ เป็นต้น

นอกเหนือจากข้อเสนอทางกฎหมายและนโยบายดังกล่าวแล้ว ภาคประชาชนยังสามารถร่วมมือกันรณรงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการสารเคมียุติการนำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่อื่นๆที่สร้างผลกระทบต่อระบบอาหาร