ระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย

ชนวน รัตนวราหะ

ระบบเกษตร หมายถึง   ระบบนิเวศ ของไร่นา   ณ ช่วง เวลาหนึ่ง  ที่ประกอบด้วย  ปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยด้าน กายภาพ(ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด)  ชีวภาพ(พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ฯลฯ) เศรษฐกิจ-สังคม(ราคาพืชผล ต้นทุนการผลิต ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพฯลฯ) ทั้งที่เกิดจากมนุษย์ได้กระทำขึ้นและที่มีเกิดขึ้นอยู่แล้วในธรรมชาติ  มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ระบบเกษตรในอดีตตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันจากสิ่งที่มีและเกิดขึ้นในระบบนิเวศตามธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างผสมผสานและสมดุล ทั้งนี้มนุษย์ได้เรียนรู้และได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการจัดการระบบเกษตรเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงชีพอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดมา

ตราบจนกระทั่งจะได้มีการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำเมื่อ พ.ศ. 2348 หรือประมาณ  300 ปี  และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่มนุษย์ได้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตรเมื่อประมาณ 170 ปีมานี้ (พ.ศ.2385)  และสารเคมีสังเคราะห์กำจัดศัตรูพืชเมื่อประมาณ 70 ที่ผ่านมา (พ.ศ.2482)   ซึ่งได้มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรที่จากเดิมที่ใช้ประสบการณ์และพึ่งพิงธรรมชาติ  มาเป็นการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์พยายามจะเบี่ยงเบนออกจากธรรมชาติ   เพื่อสนองความต้องการที่จะผลิตเพื่อการค้าให้เกิดผลกำไรสูงสุด  ระบบเกษตรจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากการผลิตเพื่อการบริโภคเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ

ระบบเกษตรกับผลกระทบจากระบบการค้าเสรี

จากเดิมที่มนุษย์ได้ใช้หลักการพึ่งพิงธรรมชาติ  เลียนแบบอย่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ซึ่งมีความหลากหลายผสมผสาน  มีความสมดุล และตอบสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์ที่จำเป็นต้องได้อาหารครบหมู่ อาทิ  แป้ง  น้ำตาล  โปรตีน เส้นใย วิตามิน เกลือแร่ รวมทั้งอาหารที่เป็นยารักษาโรคไปพร้อม ๆ กัน เกิดขึ้นจากความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเกษตร ดังปรากฏให้เห็นจากสวนผสมผสานที่บรรพบุรุษไทยได้ทำไว้และยังเหลือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเอามาเป็นตัวอย่างในทุกภาคของประเทศ

ด้วยความเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันในระบบการค้าเสรีที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายสำคัญ   ฉะนั้นการผลิตทั้งการอุตสาหกรรม บริการ รวมทั้งการเกษตร  ได้ตกอยู่ในระบบการแข่งขันทั้งสิ้น  โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ระบบการผลิตทางการเกษตรเพื่อการแข่งขันได้เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัยที่สนองต่อการผลิตเพื่อการแข่งขัน โดยที่มีการเรียกขื่อว่า “The Green Revolution Technology” ซึ่งเป็นการเกษตรที่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเพื่อการเพิ่มผลผลิต ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารปฏิชีวนะ สารเคมีกำจัดวัชพืช ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรในประเทศไทย

แต่เดิมเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองในการบริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ  เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป และแรงผลักดันจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของการค้าเสรี   ได้มีอิทธิพลให้เกษตรกรไทยหันมาผลิตเพื่อขายเพื่อหวังกำไรแล้วนำเอาส่วนที่กำไรนั้นไปซื้ออาหารและปัจจัยการดำรงชีพ    ฉะนั้น ระบบการเกษตรจากเดิมมีความหลากหลายผสมผสานเพื่อการพึ่งตนเอง  ใช้ปัจจัยการผลิตที่พึ่งตนเองตั้งแต่ปุ๋ย  เครื่องมือการเกษตร ฯลฯ  ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่ต้องซื้อหาจากภายนอกจนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในระดับปัจเจกและระดับประเทศ

ดังจะเห็นได้จากในทุกขั้นตอนของการผลิตข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ   แต่เดิมชาวนาไทยพึ่งตนเองได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมดิน ไปจนถึงได้ผลผลิตข้าวสารที่บริโภคสามารถใช้ปัจจัยการผลิตที่เกิดจาการพึ่งตนเอง  แต่ในปัจจุบัน ภายหลังจากมีการพัฒนาการเกษตรภายใต้นโยบายการค้าเสรีชาวนาไทยต้องใช้เงินซื้อปัจจัยการผลิตทุกขั้นตอน    โดยปัจจัยการผลิตเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ระบบเกษตรเชิงเดี่ยว

ระบบเกษตรในยุคของการค้าเสรีนั้น  ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะเป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว(Monoculture) ซึ่งเน้นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวและจำนวนมาก ๆ ในพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งระบบการผลิตดังกล่าวนี้จะเป็นการฝืนหลักความเป็นไปของธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคและศัตรูพืชอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง  ฉะนั้น เพื่อให้รอดพ้นจากผลผลิตถูกทำลายด้วยโรคและศัตรูพืช  มนุษย์จึงต้องใช้ปัจจัยในการควบคุมโรคและศัตรูพืช  ได้แก่ สารปฏิชีวนะ สารเคมีกำจัดโรคและศัตรูพืช โดยที่สารดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม  เมื่อมีการใช้สารพิษดังกล่าวผลผลิตการเกษตรก็จะเกิดปัญหาพิษตกค้างในผลผลิตที่นำไปเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง

ระบบเกษตรเชิงพาณิชย์กับการขยายตัว

ความรุนแรงและเข้มข้นของการแข่งขันในระบบการค้าเสรีที่มักจะอ้างเหตุผลของประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ระบบการเกษตรเชิงพาณิชย์จึงได้แผ่ขยายเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา คานาดา ฯลฯ ในส่วนของประเทศไทยก็ได้เริ่มก่อตัวจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่แบบกรงตับ(Battery Chicken) และการขังรวมตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา นับเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับเจ้าของกิจการอย่างมหาศาล

 

ผลกระทบของการเกษตรเชิงพาณิชย์

  1. ด้านสุขภาพของผู้บริโภค สารตกค้างในผลผลิตฮอร์โมน สารปฏิชีวนะ สารพิษกำจัดศัตรูพืช
  2. ด้านสิ่งแวดล้อม  พื้นที่บนที่สูงซึ่งเป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารได้ถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเป็นสาเหตุสำคัญของแผ่นดินถล่ม น้ำป่าไหลท่วมพื้นที่ราบ
  3. พลังงานที่สิ้นเปลืองจากการใช้ผลิตปัจจัย การผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูงมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน

ข้อคิดเห็น

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งธรรมชาติ  มนุษย์ได้รับบทเรียนที่ธรรมชาติได้สั่งสอนด้วยการลงโทษจากการที่มนุษย์อหังการอวดดีที่จะเอาชนะธรรมชาติ  ปัญหาโลกร้อน ซึ่งได้ส่งผลกระทบลูกโซ่ให้เกิดความผันแปรต่าง ๆ ในโลกนี้ เช่น Tsunami ,Tornado, น้ำท่วม ฝนแล้ง ดินถล่ม, มนุษย์เป็นโรคร้ายที่ไม่เคยเป็นมาแต่ก่อนจากการรับประทานอาหารที่เรียกว่า อาหารขยะ(Junk Food) สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์เพียงพอที่จะสอนให้มนุษย์ได้มีความตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบเกษตรเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น ภาพของป่าไม้บนภูเขาถูกทำลายซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝนแล้งและน้ำท่วมและเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณ 3.5 แสนล้านเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างปกติที่เคยเป็นมาในอดีตและเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้สิน  มีสภาพที่ยากจน สิ่งเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะเตือนให้คนไทยส่วนใหญ่ได้สำนึกว่า  “คนต้องเคารพและอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน”  ฉะนั้นระบบเกษตรที่คนไทยต้องทบทวนและหันมาสนใจก็คือ ระบบเกษตรแบบผสมผสานหลากหลายเพื่อความสมดุลตามธรรมชาติ  เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีพกลมกลืนกับธรรมชาติ