สภาผู้แทน มีมติเห็นชอบแบนพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ย้ำไม่ทิ้งเกษตร ตั้งกองทุนระยะเปลี่ยนผ่าน เดินหน้าเครื่องจักรกล และชีวภัณฑ์

เมื่อวานนี้ 21 พ.ย. 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุม 424 คน (ประธานที่ประชุมงดออกเสียง) เห็นชอบรายงานและข้อเสนอของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมี ในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร” ยืนยันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิด จัดตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่งเสริมจักรกลอัจฉริยะ การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ สร้างระบบเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สำคัญมีดังนี้

1) คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เน้นย้ำทิศทางการทำงานที่ให้ความสำคัญกับชีวิตคนไทยไม่ให้ตายผ่อนส่ง เล็งเห็นว่าประโยชน์ในการรักษาชีวิตคนไทยสำคัญมากกว่าประโยชน์อื่นใด ทั้งชีวิตคนไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และชีวิตเด็กทารกที่จะเกิดขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติเพื่อให้รอดพ้นจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชนโดยเร่งด่วนด้วยการยุติการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้ละทิ้งการเยียวยา และการหาทางเลือกในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อดูแลและคุ้มครองเกษตรกร โดยคณะกรรมาธิการจะไม่เสนอความเห็นให้มีการใช้สารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน แต่ควรทดแทนด้วยสารชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม ที่สามารถกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช และโรคพืชได้ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์

2) รัฐบาลควรพิจารณาประเด็นการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กรณีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยจัดให้มีกองทุนเยียวยาและดูแลเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อให้สามารถเพาะปลูกพืชตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งกระบวนการ

3) รัฐบาลควรกำหนดเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำระดับครัวเรือนเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแล และต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายในการสร้างเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น

4) รัฐบาลควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริโภค เกษตรกร นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ให้มีความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความสำคัญของการบริโภคสินค้าเกษตรที่มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์

5) รัฐบาลควรส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก สามารถทำงานได้หลากหลายในเครื่องจักรกลเครื่องเดียวทั้งการเพาะเมล็ด การโยนต้นกล้า การรดน้ำ การพ่นสารชีวภัณฑ์ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต และควรส่งเสริมให้นักศึกษาในพื้นที่สามารถ ผลิต ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลได้ รวมถึง การส่งเสริมและพัฒนาให้มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

6) รัฐบาลควรลดขั้นตอนและกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ให้ง่ายขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมจากสารชีวภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น และยกเลิกการกำหนดให้สารชีวภัณฑ์เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป

7) รัฐบาลต้องผลักดันให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร โดยอาจอยู่ในรูปตลาดเกษตรกร (Farmers’ Market) หรือการบริหารจัดการตลาดที่เกษตรกรมีส่วนร่วม

8) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจ าหน่ายในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ

9) อันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถตกค้างอยู่ในสินค้าเกษตรที่ได้มีการนำเข้ามาจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศด้วย ดังนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้มีการพิจารณาตรวจสอบว่าผักและผลไม้ที่มีการนำเข้ามีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ โดยได้ข้อค้นพบสำคัญว่าประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนปีละกว่า 59,000 ล้านบาท แต่การสุ่มตรวจสารเคมีปนเปื้อนยังไม่ได้มาตรฐานอย่างมาก ไม่มีห้องปฏิบัติการแม้แต่ห้องเดียวตามด่านชายแดน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน ด้วยการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากด่านตรวจรอบประเทศ และผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด และอำเภอ รวมทั้งต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ซึ่งทำงานร่วมกับการตรวจสอบสารพิษ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือน ส่งกลับ หรือทำลาย ผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ที่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน

10) รัฐบาลควรกำหนดให้มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้องในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการให้ทุนงานวิจัยทางวิชาการเกษตรอินทรีย์แก่ทุกมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร