ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแบน พาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 5 รายการ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่4 ระบุประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 19 พฤษภาคม 2563 ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม” เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ให้ยกเลิกรายการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556 ดังต่อไปนี้ โดยให้รายการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศฉบับนี้แทน

บัญชีที่1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ บัญชี 1.1 รายชื่อสารควบคุม ลำดับที่53 คอลร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์

ข้อ2. ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

หลังจากการต่อสู้ทางนโยบายมาอย่างยาวนานกว่า 3 ปี ในที่สุดพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่ 58 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว ถูกประกาศแบนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็ประกาศแบนสารพิษดังกล่าวแล้วเช่นกัน

คลอร์ไพริฟอส สารพิษกำจัดแมลงที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก ถูกประกาศแบนแล้วเช่นเดียวกัน โดยจะมีผลพร้อมกันในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้ หลังจากสารพิษนี้ถูกยกเลิกการใช้โดยสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

หลังการประกาศแบนมีผล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องมีบทบาทหลักในการสนับสนุนเกษตรกรทั้งในรูปการฝึกอบรม การให้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรใช้วิธีการทางเลือกอื่น เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน และการจัดระบบการปลูกพืช เป็นต้น ในการกำจัดวัชพืช

โดยควรใช้โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากนับล้านคนที่หลั่งไหลกลับภาคเกษตรกรรมอันเกิดจากวิกฤต COVID-19 สร้างอาชีพ เช่น หน่วยบริการกำจัดวัชพืช โดยอาจสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรเพื่อการนี้แก่กลุ่มต่างๆที่สนใจ รวมไปถึงการปฏิรูประบบเกษตรกรรม ที่ส่วนใหญ่เน้นการผลิตเชิงเดี่ยวผลิตวัตถุดิบราคาถูก ไปสู่ระบบเกษตรผสมผสานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะยาว และรองรับการเปลี่ยนแปลงรับมือยุคหลังไวรัสระบาด

รัฐบาลอาจแบ่งงบประมาณ 400,000 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรองรับเกษตรกรรายย่อยที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมไปสู่วิถีเกษตรใหม่ดังกล่าว

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓