พาราควอตเปเปอร์ เอกสารลับลากไส้บริษัทสารพิษ

เมื่อ 2 ปีที่แล้วเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เสียชีวิตหลังจากถังฉีดพ่นพาราควอตรั่ว สารพิษร้ายแรงอาบทั่วแผ่นหลังและบริเวณร่างกายตอนล่าง เขาเสียชีวิตอย่างทรมานเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น แพทย์หญิงที่ดูแลเด็กหนุ่มคนนี้โพสต์ด้วยความเศร้าและคับแค้นว่า “เมื่อไหร่สารเคมีรกโลกนี้จะออกจากชีวิตคนไข้ของเราสักที”

แต่แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งได้รับแรงกดดันจากประชาชนส่วนใหญ่ และเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสถาบันทางด้านสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง ประกาศแบนพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

แต่บริษัทซินเจนทา ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการนำพาราควอตกลับมาใช้อีกครั้ง ทั้งๆที่บริษัทน่าจะทราบดีว่าสารพิษนี้ร้ายแรงเพียงใด จากการเปิดเผยข้อมูลภายในของนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่มีใครทราบแน่นอนว่ามีคนตายเพราะสารพิษชนิดนี้มากขนาดไหน นับตั้งแต่ บริษัท Imperial Chemical Industries (ICI) ของอังกฤษวางตลาด Gramoxone เป็นครั้งแรกในปี 2505 แต่ข้อมูลของศาสตราจารย์ Michael Eddleston ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกเกี่ยวกับพิษของสารกำจัดศัตรูพืชแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ระบุว่ามีอย่างน้อยหลายหมื่นคน

ในตอนแรกการเสียชีวิตเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันตก แล้วก็กระจายไปหลายประเทศเมื่อมีการเปิดตลาดพาราควอตไปทั่วโลก เช่น ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คนต่อปี ประเทศต่างๆรวมทั้งศรีลังกา เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีนมีผู้เสียชีวิตปีละหลายร้อยคน มีการบันทึกพิษร้ายแรงในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ตรินิแดด บราซิล คอสตาริกา มาเลเซียแอฟริกาใต้ ฟิจิ และอินเดีย เป็นต้น

เด็กหลายคนเสียชีวิตจากการจิบพาราควอตที่ใครบางคนเก็บไว้ในขวดเครื่องดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกหลายคนเสียชีวิตเพราะการกระทำที่หุนหันพลันแล่นในการทำร้ายตัวเอง ทั้งๆที่เกิดจากความเครียดมิใช่อยากจะคิดฆ่าตัวตายจริงๆ แต่พาราควอตกลับไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับใจ

ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน มีประเทศต่างๆมากถึง 60 ประเทศแล้วที่แบนพาราควอต เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย จีน บราซิล และประเทศไทย โดยสถิติในประเทศศรีลังการะบุว่าอัตราการเสียชีวิตของพาราควอตอยู่ที่ 65% ซึ่งสูงกว่า “สารเคมีกำจัดวัชพืชอื่น” ซึ่งมีอัตราการป่วยแล้วเสียชีวิตระหว่าง 4% ถึง 8%

ซินเจนทาอ้างว่า พาราควอตเป็น“ สารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ตามที่ระบุไว้บนฉลาก” โดยหลังยุค 70 ซินเจนทาได้ผสมสารและกลิ่นรวมทั้งยา ’emetic’ เพื่อทำให้อาเจียน อีกทั้งอ้างว่าความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็น“ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา”

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจากการฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการเปิดเผยเอกสารภายในของบริษัทจำนวนมหาศาล ที่ชี้ให้เห็นว่าเห็นว่าซินเจนทา/ไอซีไอรู้มานานหลายทศวรรษแล้วว่า ’emetic’ ในกรัมม็อกโซนไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากพิษ

นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ปริมาณของ emeticใน กรัมม็อกโซนนั้นต่ำเกินไปที่จะป้องกันพิษร้ายแรงได้ และผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะคือ Jon Heylings

Jon Heylings, a toxicologist at Syngenta and its predecessors for over 22 years, has spoken for the first time publicly about his concerns over paraquat. Photo: Unearthed

จอน ไฮล์ลิงส์ (Jon Heylings) เป็นนักพิษวิทยาอาวุโสและศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านพิษวิทยาที่ Keele University อดีตนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับซินเจนทามานานเกือบ 3 ทศวรรษ และพยายามที่จะพัฒนาสูตรพาราควอตที่ปลอดภัยกว่า แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จอนได้ประกาศต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก เพื่อยืนยันว่าเขาได้บอกกลุ่มผู้นำในบริษัทมากว่า 3 ทศวรรษแล้วว่า พาราควอตที่ขายในหลายประเทศทั่วโลกนั้น มีความปลอดภัยน้อยมากๆกว่าที่ควรจะเป็น

ผลิตภัณฑ์พาราควอตที่ใช้รหัส PP796 ซึ่งผสมสารทำให้อาเจียนเพื่อป้องกันการดูดซึมไปสู่ระบบเลือดและร่างกายนั้น มีปริมาณน้อยเกินไปที่จะกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนในคนส่วนใหญ่

จอนเปิดเผยว่า ปัญหาที่ถูกปิดบังมานานหลายทศวรรษเกิดขึ้นเพราะรายงานภายในบริษัทที่ถูก “ประดิษฐ์” ขึ้น โดยนักพิษวิทยา ICI ที่เสียชีวิตแล้วชื่อ ไมเคิล โรส (Michael Rose) ได้จัดการข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกขนาดเล็กเพื่อชี้ให้เห็นอย่างผิด ๆ ว่ามนุษย์มีความไวต่อ PP796 มากกว่าสัตว์ทดลองทั้งสามชนิดที่ได้รับการทดสอบ

จอนพบปัญหาในรายงานดังกล่าว ในปี 1990 เขาทำบันทึกหลายฉบับต่อผู้บังคับบัญชาของเขา และบอกว่างานของโรสมี “ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง” แต่จนถึงทุกวันนี้ซินเจนทายังคงผลิต Gramoxone ที่มีความเข้มข้นเท่ากับ PP796 ตั้งแต่ยุค 70

มีทางเลือกสำหรับบริษัทในการผลิตพาราควอตในรูปแบบอื่น แต่บทความขนาดยาวเรื่อง The Paraquat Papers: How Syngenta’s bad science helped keep the world’s deadliest weedkiller on the market ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ในเร็วๆนี้ในเว็บไซท์ Unearthed และอีกหลายบทความที่เผยแพร่ในสื่อหลักๆ เช่น The Guardian เป็นต้น ระบุว่าซินเจนทาไม่เลือกรูปแบบดังกล่าวเพราะเหตุผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก

จอน ไฮล์ลิงส์ บอกว่าในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานมาอย่างยาวนานกับซินเจนทา เคยร่วมงานกับใครหลายคนและบางคนเป็นเพื่อนของเขานั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กเลยที่พบว่าตัวเองกำลังพูดต่อต้านบริษัทที่เคยทำงานมาหลายทศวรรษ แต่ “ผมอยากมองย้อนกลับไปพร้อมกับหลานๆ และบอกกับพวกเขาว่า ปู่ดีใจที่ได้ตัดสินใจทำอย่างนี้” ไทยแพนจะทยอยนำ “พาราควอตเปเปอร์ส์” มานำเสนอเป็นระยะๆ

อ่านรายงานต้นฉบับ