ประเทศเขตร้อนที่แบนพาราควอตปลูกพืชมากกว่าไทยหลายเท่า

บริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชยักษ์ใหญ่กำลังเคลื่อนไหวอย่างหนักโดยสอดประสานกับสมาคมบริวารของพวกเขาเพื่อล้มการแบนพาราควอต
 
เหตุผลสำคัญที่พวกเขามักกล่าวอ้างคือ ไม่มีวิธีการทางเลือกอื่นทดแทนพาราควอต และการผลิตปาล์ม อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลังของไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งล้วนเป็นคำกล่าวอ้างที่เหลวไหล
 
โดยประเทศบราซิล ซึ่งปลูกข้าวโพดมากถึง 100.8 ล้านไร่ และปลูกอ้อย 62.8 ล้านไร่ ได้เริ่มต้นแบนพาราควอตแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน ของปีที่แล้ว หลังการประกาศแบนอย่างเป็นทางการของไทยไม่กี่เดือน
 
ประเทศมาเลเซีย ปลูกปาล์มน้ำมันมากถึง 32.7 ล้านไร่ มากกว่าประเทศไทย 7.37 เท่าตัว เริ่มต้นแบนพาราควอตแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2563
 
ประเทศไนจีเรีย ซึ่งองค์การอาหารและยาของประเทศนั้นได้ประกาศแบนพาราควอต ซึ่งจะมีผลในเร็วๆนี้ และได้ประกาศวิธีการดทดแทนพาราควอตให้เกษตรกรได้ปรับตัวนั้น มีการปลูกข้าวโพดมากถึง 30.33 ล้านไร่ (มากกว่าไทย 14.51 เท่า) และปลูกมันสำปะหลัง 42.83 ล้านไร่ (มากกว่าไทย 4.94 เท่า)
 
แม้กระทั่งเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเกือบ 7 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับไทย (6.9 ล้านไร่) ก็ประกาศแบนพาราควอตแล้วตั้งแต่กลางปี 2560
 
ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเขตร้อน ปลูกพืชชนิดเดียวกับไทย ข้ออ้างว่าการแบนพาราควอตแล้วจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เพราะประเทศเหล่านั้นก็แบนพาราควอตเช่นกัน
 
เมื่อประเทศต่างๆกำลังทยอยการแบนสารพิษร้ายแรง รวมทั้งการฟ้องร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดพ่นพาราควอต ยิ่งทำให้การแสวงหากำไรจากสารพิษร้ายแรงนี้เป็นไปได้ยากมากขึ้นทุกที การดิ้นรนเพื่อปกป้องประโยชน์ของพวกเขาโดยเอาเรื่องผลกระทบต่อเกษตรกรบังหน้าจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการ
 
แต่ในท้ายที่สุด พวกเขาจะแพ้ภัยตนเอง เพราะโลกกำลังมุ่งไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การหวลกลับไปส่งเสริมการใช้สารพิษที่คร่าชีวิตของผู้คนและก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบที่พวกเขากำลังลงแรง