ลักเซมเบอร์กแบนไกลโฟเซต

ลักเซมเบิร์ก หนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประกาศแบนไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชก่อมะเร็งแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2564 นั่นหมายความว่าการใช้ไกลโฟเซตทั้งหมดในประเทศนี้จะยุติโดยสิ้นเชิงในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ ทั้งนี้เป็นคำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแถลงของ นาย Romain Schneider รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (คนที่ 3 จากซ้ายมือ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับสุขอนามัยของรัฐ โดยขั้นตอนการแบนจะมีดังนี้

รัฐบาลจะเพิกถอนทะเบียนไกลโฟเซตทั้งหมดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จะถึงนี้ โดยอนุญาตให้มีการจำหน่ายสารที่เหลือในสต็อคได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และสามารถใช้สารดังกล่าวได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น

เกษตรกรที่ครอบครองพื้นที่สำหรับการเกษตรทั่วไปจะได้รับเงินค่าชดเชยเพื่อสนับสนุนการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต 30 ยูโรต่อแฮกตาร์ ( 163.2 บาท/ไร่) ชดเชย 50 ยูโร ( 272 บาท/ไร่) สำหรับเกษตรกรที่ปลูกองุ่น และ 100 ยูโร ( 544 บาท/ไร่) สำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล

โดยการแบนไกลโฟเซตเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดให้เหลือ 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้าของรัฐบาลลักเซมเบิร์ก

ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่ 3 ที่ประกาศแบนไกลโฟเซต ต่อจากออสเตรีย เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่จะเป็นประเทศแรกในอียูที่คำประกาศแบนนี้มีผลบังคับใช้ ส่วนประเทศอื่นที่ประกาศแบนไกลโฟเซตแล้วนอกจากประเทศในตะวันออกกลาง 5 ประเทศแล้ว คือ เม็กซิโก และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนที่มีการปลูกพืชหลายชนิดใกล้เคียงกับประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติแบนไกลโฟเซตแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 โดยให้มีผลในเดือนธันวาคม 2562 แต่เมื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามกฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไข เขาได้ผลักดันให้มีการเลื่อนการแบนออกไปโดยไม่มีกำหนด ในครั้งการประชุมของคณะกรรมการฯเมื่้อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงมติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

————————–——
ลิงค์ข่าวต้นทาง
https://gouvernement.lu/en/actualites/toutes_actualites/communiques/2020/01-janvier/16-interdiction-glyphosate.html