จีนวางเป้าเลิกใช้พาราควอท พร้อมเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์

ล่าสุด กระทรวงเกษตรของจีน ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และหน่วยงานบริหารการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบ และกักกันสินค้า มีประกาศแผนการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอท (กรัมม็อกโซน) โดยตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2555 เป็นต้นมา

ปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอดีต เคยส่งผลให้เกษตรกรจีนเสียชีวิตจากพิษสารเคมีปีละไม่ต่ำกว่า 100 คนในมลฑลยูนนาน (หยุนหนาน) เพียงแห่งเดียว การตกค้างของสารเคมีในพืชผักยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จนมีหลายกรณีที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากอาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ผลิตพืชผักส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จีนมีการพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น แผนอาหารสีเขียว (Green Food program) เพื่อรับรองอาหารที่ผลิตจากระบบที่ใช้สารเคมีเกษตรจำนวนน้อย จนกระทั่งไม่ใช้เลย และเร่งพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์ โดยระหว่างปี 2543-2549 จีนก้าวกระโดดจากประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์อันดับที่ 45 เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ไม่เพียงเท่านั้น จีนได้ปรับกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้รัดกุมยิ่งขึ้น สารเคมีที่ผลิตต้องมีมาตรฐาน มีการรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ รวมถึงมีการทยอยยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรงหลายชนิด

ล่าสุด กระทรวงเกษตรของจีน ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และหน่วยงานบริหารการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบ และกักกันสินค้า มีประกาศแผนการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอท (กรัมม็อกโซน) โดยตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2555 เป็นต้นมา ได้ปิดรับคำขอขึ้นทะเบียนการผลิตและผสมปรุงแต่งสารเคมีชนิดนี้ ส่วนการยกเลิกทะเบียนต่างๆ ที่มีอยู่เดิมจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 แต่ยังคงอนุญาตให้มีการผลิตสำหรับส่งออกได้ ในระหว่างนี้ จีนจะเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินและสัญลักษณ์อันตรายร้ายแรงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ โดยท้ายที่สุดแล้วจะมีการยกเลิกการจำหน่ายและใช้สารพาราควอทอย่างเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551) ของไทยได้กำหนดให้สารเคมีอันตรายทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนใหม่ แต่กลับมีการขึ้นทะเบียนพาราควอทอย่างง่ายดาย ปัจจุบันจึงมีสารเคมีชนิดนี้อยู่มากถึง 61 ทะเบียน โดยบริษัทที่ขอขึ้นทะเบียนและนำเข้าหลักคือ ซินเจนทา ครอปโปรเทคชั่น ซึ่งครอบครองพาราควอท 10 ทะเบียน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2555) จึงเป็นข้อสงสัยว่าทิศทางการควบคุมสารเคมีอันตรายของไทยเป็นเช่นใดแน่ ครัวไทยจะไปครัวโลกได้อย่างไรหากยังมีการปล่อยปละละเลยให้สารเคมีซื้อง่าย ใช้ง่าย ปนเปื้อนในพืชผักทั้งสำหรับบริโภคภายในประเทศและส่งออกได้ต่อไป

พาราควอท (paraquat) คืออะไร?

พาราควอทเป็นสารเคมีในกลุ่ม dipyridil โดยชื่อทางการค้าส่วนใหญ่จะลงท้ายด้วย –xone เช่น gramoxone (กรัมม๊อกโซน) ลักษณะเป็นน้ำสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฉีดพ่น มีฤทธิ์การฆ่าวัชพืชทุกชนิด (non-selective herbicide) ในเวลาค่อนข้างเร็ว ในปี 2553 ประเทศไทยนำเข้าพาราควอทเกือบ 20 ล้านกิโลกรัม เป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท

พาราควอทมีพิษสูงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ หากได้รับสารเคมีชนิดนี้เข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน(สารเคมีที่ขายมีการผสมยาทำให้อาเจียน) ปวดท้อง ท้องเสีย อาจเกิดอาการไตวาย ปอดบวมน้ำ ปอดเป็นพังผืด และเสียชีวิตในที่สุด งานวิจัยของสถานบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังชี้ว่าการได้รับสารอย่างต่อเนื่องอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์คินสัน

ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถใช้พาราควอทได้ และในสหภาพยุโรป สารเคมีชนิดนี้ถูกยกเลิกการใช้ตั้งแต่ปี 2550

ข้อมูลจาก : กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และ Wikipedia: paraquat

เอกสารประกอบ